นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง กล่าวว่า กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมในการระบายน้ำออกสู่ทะเลยผ่านทางคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะมีสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ สามารถระบายน้ำได้ถึง 100 ลบ.ม./วินาที โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สุดที่กรมชลประทานใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ขนาดกำลังการสูบเครื่องละ 25 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง สูบน้ำจากคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิที่ต่อเนื่องกับคลองสำโรงไปยังสะพานระบายน้ำข้ามถนนสุขุมวิท(สายเก่า) และคลองชายทะเล ออกสู่ทะเล ที่ ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยสถานีสูบน้ำดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร
ทั้งนี้คลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ เริ่มก่อสร้างในปี 2548 แล้วเสร็จในปี 2553 เป็นคลองระบายน้ำสายหลักของพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วยในการเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงและคลองต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวระบายออกสู่ทะเลโดยตรง ทำให้สามารถลดสภาวะน้ำท่วมและความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากเมื่อครั้งเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากมีคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ ช่วยในการระบายน้ำ
นอกจากนี้คลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ ยังช่วยในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอย่างเป็นระบบ สามารถตัดยอดน้ำเหนือที่หลากเข้าสู่พื้นที่ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ผ่านทางคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าสู่คลองระพีพัฒน์ แล้วระบายน้ำผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิตลงสู่พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร และใช้สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ รวมถึงสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองชายทะเลเพื่อสูบระบายลงสู่ทะเลในที่สุด ซึ่งในปีนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำเหนือ โดยมีการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง และได้มีการพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมรองรับฝนที่จะตกหนักในพื้นที่ และน้ำเหนือที่จะไหลหลากลงมา ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2560 ไว้เรียบร้อยแล้ว
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กล่าวด้วยว่า คลองระบายน้ำสุวรรณภูมินอกจากจะใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรหรือกิจกรรมอื่นในบริเวณใกล้เคียง ถนนตามแนวคันคลองยังใช้เป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนสุขุมวิท-เทพารักษ์ และถนนบางนา-ตราด ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาการจราจรของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาค่อนข้างมากและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดดำเนินการ รวมทั้งยังช่วยเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบนิเวศของจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย
“สถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ที่มีผลต่อลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่กักเก็บแค่ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันกว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้พายุที่จะพัดเข้าสู่ประเทศไทยก็น้อยกว่าปี 2554 มาก หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ในฤดูฝนปีนี้ น้ำจะไม่ท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเหมือนเมื่อครั้งมหาอุกภัยปี 2554 แน่นอน" นายพงศ์ศักดิ์กล่าวในตอนท้าย