นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญกับทุกปัจจัยที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุรถโดยสาร ผ่านการดำเนินโครงการยกระดับมาตรฐานด้านวิศวกรรมยานยนต์ ทั้งด้านโครงสร้าง ขนาด สัดส่วนของตัวรถโดยสารเพื่อความปลอดภัยสูงสุด และกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบที่มีผลต่อความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รวม 17 โครงการ
ในส่วนของการกำหนดมาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยของรถโดยสาร ได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา กำหนดมาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่งในรถโดยสาร ประกอบด้วย ความแข็งแรงของโครงสร้างที่นั่งและพนักพิงหลัง ความแข็งแรงของจุดยึดที่นั่งและส่วนของพื้นรถหรือตัวถังที่ใช้ติดตั้งที่นั่ง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการยึดที่นั่งกับพื้นรถ รวมถึงความแข็งแรงของจุดยึดเข็มขัดนิรภัยทั้งแบบติดตั้งกับที่นั่งและแบบติดตั้งกับตัวถังรถ ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือได้รับการรับรองมาตรฐานตามข้อกำหนดของสหประชาชาติ (UN Regulation) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยจะมีผลใช้บังคับทันทีกับรถตู้โดยสารและรถโดยสารขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน รวมถึงรถโดยสารที่จดทะเบียนแล้วแต่มีการเปลี่ยนตัวถัง ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ยกเว้นรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 หมวด 4 และรถสองแถวซึ่งไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับรถที่ผลิต ประกอบ นำเข้า ตามแบบรถที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกจะประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการขนส่งและให้คำแนะนำการเลือกติดตั้งอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยของรถโดยสาร เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถโดยสาร ลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารได้ เช่น จุดยึดที่นั่งสามารถป้องกันไม่ให้ที่นั่งหลุดจากพื้นรถ และขณะที่มีผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ จุดยึดเข็มขัดนิรภัยจะสามารถป้องกันผู้โดยสารไม่ให้หลุดจากตัวรถเนื่องจากแรงเหวี่ยงรุนแรงได้
ในส่วนของผู้ผลิตอุปกรณ์ขอให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อร่วมยกระดับความปลอดภัยรถโดยสารและมาตรฐานด้านวิศวกรรมยานยนต์ของไทยเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล ซึ่งกรมการขนส่งทางบกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้น ต้องไม่เกิน 4.0 เมตร มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 และการกำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยของรถโดยสารทุกคัน เช่น รถโดยสารทุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร ต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว กำหนดให้ติดตั้ง GPS Tracking ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการที่สำคัญในการควบคุมความปลอดภัยและพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน รวมถึงการกำหนดและควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบของรถโดยสารให้ครอบคลุมในทุกประเด็นความปลอดภัย ซึ่งนอกจากมาตรฐานของที่นั่งที่จะมีผลในปี 2561 กรมการขนส่งทางบกยังกำหนดมาตรฐานความแข็งแรงของโครงสร้างหลักของตัวถังรถโดยสาร มาตรฐานการลุกไหม้ของวัสดุสำหรับตกแต่งในรถโดยสาร ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2562 และยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยของรถโดยสารให้สอดคล้องกับมาตรฐานและการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ในระดับสากลในอีกหลายโครงการ ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารอย่างความครอบคลุมในทุกมิติ ทุกประเด็นความปลอดภัย และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม