ภาคเอกชนมองแนวทางทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 ต้องเริ่มจากระบบราชการเป็นหลัก แก้ปัญหาความล่าช้าขั้นตอนการทำงาน มองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการออกกฎหมายใหม่ๆ ไม่ได้ช่วยลดปัญหา แต่อาจกลายเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตเพิ่มมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำปลูกจิตสำนึก และเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากขึ้น
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวในงานเสวนา "รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชันเก่า?" จัดโดยองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยิ่งเกิดคอร์รัปชั่น เพราะทุกหน่วยงานมีแต่เสนอเพิ่มขนาดของตัวเอง ทั้งบทบาทและอำนาจ
"ในระดับประเทศต้องแก้ไขด้วยการลดขนาดและอำนาจของรัฐ แต่ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมีแต่เพิ่มขนาดของรัฐจนงบประมาณส่วนใหญ่ถึง 30% ต้องใช้ไปเพื่ออุดหนุนการจัดสวัสดิการแก่พนักงานราชการ 2.2 ล้านคน ทำให้รัฐไปทำกิจการบางเรื่องที่ไม่จำเป็นและเหมาะสม ขณะที่ประชาชนมีกฎหมายบังคับใช้อยู่กว่าแสนฉบับ ภาคประชาสังคมจึงยังมีความอ่อนแอและมีบทบาทน้อย"นายบรรยง กล่าว
นายบรรยง กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นจะมีรูปแบบใหม่ๆ การป้องกันจำเป็นต้องเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึก โดยให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งควรมีการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชั่น
"แค่ปลูกฝังให้โตไปไม่โกงยังไม่พอ เพราะยังเหลือคนที่โกงอยู่ แต่ถ้าปลูกฝังให้โตไปไม่ยอมให้คนโกงจะได้ผลดีกว่า" นายบรรยง กล่าว
พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางแก้ไขคอร์รัปชั่น 4 ข้อ คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส 2.การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ 3.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 4.ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง
"การเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่คงไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่คิดว่าจะเกิดขึ้นก่อน คือ ยุทธศาสตร์ชาติที่จะป้องกันการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร เพราะไม่เคยมีคนโกงคนไหนเลยที่คิดว่าตัวเองเป็นคนเลว" นายบรรยง กล่าว
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนเริ่มตื่นตัวเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการ และการบริหารกิจการ
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 นั้นต้องเริ่มจากระบบราชการเป็นหลัก อย่างขั้นตอนการขออนุญาตประกอบกิจการของต่างชาติจะเข้ามาลงทุนยังมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล การลงทุนด้านเทคโนโลยีก็ติดขัดเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตประกอบกิจการที่ล่าช้าจนตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน การลงทุนในบางกิจการต้องใช้ใบอนุญาตถึง 30 ใบ
"ประเทศใดที่มีกฎหมายมากก็จะก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากเช่นกัน ยิ่งมีมากก็ยิ่งเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชามากขึ้น" นายปริญญ์ กล่าว
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทยที่ชะลอตัวลงไปในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดลง ขณะที่การตรวจสอบทุจริตของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลและไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเลย
นอกจากนั้น ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตไม่มีข้าราชการทหารอยู่เลย จึงไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น การตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์, การเก็บค่าหัวคิวโครงการโซลาฟาร์มขององค์การทหารผ่านศึก, การตรวจสอบทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดจีที 200
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้มีการออกกฎหมายมากขึ้น 200 เรื่อง ซึ่งสวนทางกับนานาชาติที่พยายามลดกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายอำนวยความสะดวกที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะยังมีปัญหาอุปสรรคเช่นเดิม ขณะที่การใช้มาตรา 44 มองว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐาน
ทั้งนี้ อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลใน 4 ส่วน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลของกรมบัญชีกลางที่ดูแลจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเป็นแหล่งที่รวมผลประโยชน์จึงมีทุจริตมากสุด 2.การเปิดเผยข้อมูลการจัดเก็บภาษี 3.การเผยข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณ และ 4.การเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โมเดลในการปราบปรามคอร์รัปชั่นในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไปให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในทุกระดับ ขณะที่องค์กรตรวจสอบทุจริตภาครัฐที่มีอยู่ก็ยังขาดการประสานงานกัน ดังนั้น ควรมีการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ไปในทิศทางเดียวกัน
นายนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นคิดว่าต้องสร้างจิตสำนึกให้รู้สึกละอาย จุดเริ่มต้นเหมือนมาจากเรื่องสินน้ำใจในสังคมไทย แต่พอนานไปกลายเป็นเรื่องสินบน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่ค่อยๆ สะสมปลูกฝังมานาน และอยากให้การรณรงค์เห็นผลเป็นรูปธรรมเหมือนเรื่องห้ามสูบบุหรี่ เพราะปัจจุบันปัญหาการคอร์รัปชั่นมีทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่
ขณะที่นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 60 จะป้องกันไม่ให้นักการเมืองนำผลเลือกตั้งไปใช้ฟอกตัว และเปิดทางให้มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกนโยบายหาเสียงที่เป็นเรื่องที่ไปไม่ได้ จนกระทั่งพ้นสภาพจากการเป็นรัฐบาลไปแล้วมีการตรวจพบทุจริตในภายหลัง
การตรวจสอบทุจริตเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีที่มีราว 1.4 ล้านรายการเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการบูรณาการกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่องนี้ บางครั้งจะเห็นว่าการวินิจฉัยเรื่องเดียวกันในแต่ละภูมิภาคมีมาตรฐานแตกต่างกัน นอกจากนี้ควรมีเครื่องมือในการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องทุจริตด้วย