กรมอุทยานฯวางเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% ของพื้นที่ทั่วปท.ภายในปี 69 พร้อมเดินหน้าทวงพื้นที่ป่าเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Saturday September 9, 2017 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปี 2569 กรมฯ ได้ดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้ยุทธศาสตร์หลัก 7 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน 2.จัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษา 4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ 5.พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.สร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ และ7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของภาคเหนือและในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนบนพื้นที่สูงให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง และยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ ที่สำคัญช่วยให้ป่าต้นน้ำกลับมาสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2559 กรมอุทยานฯ สามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้ทั้งสิ้น 141,017.33 ไร่ ส่วนในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 4,993 แปลง107,518.88 ไร่ ขณะนี้ดำเนินการได้ 60,000 กว่าไร่ ยังคงขาดพื้นที่ป่าตามเป้าหมายอีก 40,000 กว่าไร่

สำหรับข้อมูลสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ 150 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ 44,698,837.26 ไร่ โดยในพื้นที่ไม่มีสภาพป่าประมาณ 3,532,661.97 ไร่ หรือประมาณ 7 % แบ่งเป็น ก่อนปี 2545 จำนวน 3,208,925.14 ไร่ และหลังปี 2545 จำนวน 323,736.83 ไร่

นายทรงธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้มีการจัดทำโครงการ SMART NATIONAL PARK 4.0 พร้อมทำ Smart Platform ให้เป็นระบบศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้สามารถวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และวางแผนพัฒนาพื้นที่อุทยานให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า อย่างเหมาะสมและถูกต้องมากที่สุด สามารถเฝ้าระวังภัยคุกคามในพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลได้แบบ Real Time มีเชื่อมโยงแอพพลิเคชั่นครบตามความต้องการใช้งาน นอกจากเป็นการพัฒนาโครงการ Smart National Park 4.0 ยังได้มีการสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังภัยคุกคาม การแจ้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือขอความช่วยเหลือ (SOS) ได้อย่างทันท่วงที เป็นการช่วยในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ