พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้าว่า ส่วนตัวไม่ได้ติดใจหรือไม่พอใจผลคะแนนจากสำรวจครั้งนี้ เพียงแต่เห็นว่าการนำเอาผลสำรวจที่รวมอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีความผิด และอยู่ระหว่างหลบหนีมานำเสนอเผยแพร่แก่สาธารณะ อาจไม่เหมาะสมนัก เพราะอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และเห็นว่าการทำผิดกฎหมาย ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
“นายกฯ เห็นว่า การนำเสนอข้อมูลบางเรื่องอาจต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเข้าใจหรือความขัดแย้งในสังคมได้ พร้อมทั้งได้ฝากให้สติกับพี่น้องประชาชนในการเลือกรับข่าวสารด้วยว่า ควรอ่านและศึกษารายละเอียดของข่าวให้ชัดเจน ไม่อ่านหรือตีความเฉพาะแค่เพียงพาดหัวข่าวแต่อย่างเดียว"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สถาบันพระปกเกล้าได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า การนำเสนอรายงานผลสำรวจความคิดเห็นความเชื่อมั่นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการเปรียบเทียบความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีแต่ละคน แต่มีการนำไปเปรียบเทียบกันเอง เพราะในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากเกิดขึ้นคนละช่วงเวลาและคนละสถานการณ์ นอกจากนี้ในรายงานยังมีข้อมูลของนายกรัฐมนตรีคนอื่นด้วย ไม่ใช่มีเพียงแค่ 2 คน เท่านั้น
อนึ่ง ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนรายงานว่า สถาบันพระปกเล้า เปิดเผยผลสำรวจแจกแจงความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2545-2560 มีผลที่น่าสนใจ เช่น นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คือนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมถึง 92.9% ในปี 2546 แต่ก็ลดลงมาเหลือ 77.2% ในปี 2549 ก่อนจะมีการรัฐประหาร ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 87.5 % ในปี 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยในสองปีถัดมาที่ 84.6% และ 84.8%
สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมต่ำสุดในช่วงดังกล่าว คือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 37.6% ในปี 2551 ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2553 คือ 61.6% ตกลงมาเหลือ 51.2%ในปี 2554 ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2555 คือ 69.9% แต่ก็ตกลงมาเหลือ 63.4% ในปี 2556-2557