ไทย-ลาว เห็นชอบร่วมกันหลายประเด็นในการประชุมระดับวิชาการด้านแรงงาน

ข่าวทั่วไป Sunday September 10, 2017 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยกล่าวภายหลังการลงนามในบันทึกการประชุมระดับวิชาการไทย-ลาวร่วมกับนางอนุสอน คำสิงสะหวัด รักษาการอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2560 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร ว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 90 ราย โดยผู้ประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีและกำหนดให้มีการวางหลักประกันเป็นจำนวน 5 ล้านบาท และแจ้งให้ทราบถึงผลการดำเนินการของศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ตามประกาศกระทรวงแรงงานว่ามีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาแจ้งความต้องการจำนวน 797,685 คน เป็นสัญชาติลาว จำนวน 100,470 คน ผลการดำเนินงานของศูนย์คัดกรองความสัมพันธ์ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง และได้รับหนังสือรับรองที่ออกโดยกระทรวงแรงงานไทย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม-5 กันยายน 2560 พบว่ามีแรงงาน 3 สัญชาติผ่านการสัมภาษณ์ จำนวน 653,025 คน เป็นแรงงานลาว 80,475 คน

ที่ประชุมได้หารือและเห็นชอบร่วมกันในประเด็นต่างๆ คือ 1) การดำเนินการกรณีแรงงานลาวที่ได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงแรงงาน โดยกลุ่มที่ 1 แรงงานลาวมีหนังสือเดินทาง (PP) และมีระยะเวลาอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย (VISA) ยังไม่หมดอายุให้แรงงานเดินทางกลับประเทศโดยไม่ต้องขอใบรับรองเดินทางชั่วคราว (Laissez-Passer) กลุ่มที่ 2 แรงงานลาวที่มี PP แต่ VISA หมดอายุ อยู่เกินกำหนดการได้รับอนุญาต (Overstay) และไม่มีเอกสารแสดงตนต้องเดินทางไปขอรับใบอนุญาตเดินทางชั่วคราว (Laissez-Passer) มีระยะเวลา 5 วัน ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย หรือสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำจังหวัดขอนแก่น เพื่อเดินทางกลับประเทศ ทั้งนี้ ทั้ง 2 กลุ่มต้องไปลงทะเบียนที่ศูนย์รับแจ้งของทางการลาว เพื่อเลือกใช้บริการบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งแรงงานมาทำงานที่ประเทศไทย จำนวน 20 บริษัท และศูนย์บริการจัดหางาน 1 ศูนย์ ซึ่งทางการลาวกำหนดจะจัดตั้งศูนย์ จำนวน 7 แห่งได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ จำปาสัก สาละวัน สะหวันนะเขต คำม่วน ไชยะบุรีและกรุงเทพมหานคร จากนั้นเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยอย่างถูกต้องในรูปแบบ MOU ซึ่งฝ่ายไทยได้ลดขั้นตอนการดำเนินการตามรูปแบบ MOU โดยใช้หนังสือรับรอง (ใบจับคู่) ที่ออกโดยกระทรวงแรงงานแทนหนังสือแจ้งความต้องการ (Demand Letter) และหนังสือแจ้งการอนุญาตให้จ้างคนต่างด้าว

2) ฝ่ายไทยพร้อมจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพิ่มที่จังหวัดมุกดาหารอีก 1 แห่ง และพิจารณาขยายระยะเวลาการทำงานของศูนย์แรกรับฯ จังหวัดหนองคายตามความเหมาะสม 3) ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายลาวแจ้งจำนวนและการดำเนินการออก Laissez-Passer (ไรเซอร์-พาสเซอร์) เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการออก VISA และใบอนุญาตทำงาน (WP) แก่แรงงานลาว 4) ฝ่ายลาวยินดีให้ข้อมูลแรงงานลาวที่ผ่านศูนย์รับแจ้งของทางการลาวที่กำหนดจะจัดตั้ง 7 แห่ง เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการแรงงานต่อไป 5) ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศจะอำนวยความสะดวกโดยอนุญาตให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยดำเนินการขอรับการตรวจลงตรา (VISA ) ประเภท Non - Immigrant L-A (นอล-แอมมิแกร๊น-แอล-เอ) ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สำหรับสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต สามารถตรวจลงตรา (VISA) ประเภท Non - Immigrant L-A (นอล-แอมมิแกร๊น-แอล-เอ) ได้ แต่แรงงานลาวต้องเดินทางไปขอรับการตรวจลงตราด้วยตนเอง ซึ่งจะประสานกรมการกงสุลเพื่อหาแนวทางการให้บริการ เพื่อรองรับจำนวนแรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ฝ่ายไทยจะประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างและแรงงานทราบขั้นตอนการดำเนินการกรณีบัตรสีชมพูและแรงงานกลุ่มหนังสือรับรอง (ใบจับคู่) ที่ออกโดยกระทรวงแรงงาน โดยขอให้ฝ่ายลาวช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานทราบด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมระดับวิชาการครั้งต่อไปกำหนดจัดที่ สปป.ลาว โดยฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ