นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และนนทบุรี ใช้กลไกประชารัฐประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอการปลูกข้าวนาปรัง ปี 60-61 รอบสอง (นาปีต่อเนื่อง) โดยให้ดำเนินการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 60-61 ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 60 ของกรมชลประทาน และมีพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะช่วยป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
โดยจากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกับกับกรมชลประทาน พบว่า กรมชลประทานได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 60 ตามแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 60 ให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตข้าวครบวงจรจำนวน 15.95 ล้านไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณเหนือจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 0.265 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรได้ดำเนินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว
สำหรับการส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์จำนวน 1.15 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.60 ปัจจุบันเกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจำนวน 0.69 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 15 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ได้กำหนดใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่พบว่าพื้นที่นาซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วบางส่วนยังคงมีน้ำคงค้างอยู่ในทุ่ง ทำให้สามารถดำเนินการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม 2560 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะสูงกว่าค่าปกติ หากทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มต่ำอาจส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำ (โครงการบางระกำโมเดล 60) พื้นที่ 265,000 ไร่ เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ให้ความร่วมมือปรับเปลี่ยนเวลาการเพาะปลูกข้าวนาปีเป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้ เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจำนวน 230,000 ไร่ (87%) คงเหลืออีกประมาณ 35,000 ไร่ โดยส่วนที่เหลือคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายใน 31 สิงหาคม 2560 ปัจจุบันรับน้ำจากแม่ยมสายหลัก และแม่น้ำยมสายเก่า เข้ามาในระบบคลองสายหลักและคลองสาขา รวมไปถึงในทุ่งที่เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 70,000 ไร่ รับน้ำเข้าในระดับความลึกเฉลี่ย 1.00 - 1.50 เมตร มีปริมาณน้ำประมาณ 150 ล้าน ลบ.ม. จากเป้าหมายสูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งพื้นที่ลุ่มต่ำสุดในเขตโครงการ ดังนี้ 1. ทุ่งแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก และพื้นที่รอยต่อ ต.บ้านใหม่สุขเกษม ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ พื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ (ปัจจุบันเริ่มรับน้ำเข้าแล้ว) และ 2.ทุ่งบางระกำ ต.ตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม ต.บางระกำ และ ต.ท่านางงาม จ.พิษณุโลก พื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่ อีกทั้ง กรมชลประทานบูรณาการร่วมกับกรมประมงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง ประมาณต้นเดือนกันยายน 2560 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่14 - 18 ก.ย. 60 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้นลักษณะทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นนั้น กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง เข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิง 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 1.15 ล้านไร่ (พื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา) โดยได้ดำเนินการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนจะถึงฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน – ตุลาคม ปัจจุบันพบว่าภายในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ก่อนจะปรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีทั้งหมด 12 ทุ่ง ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากโดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ได้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน 2560 เป็นวันเริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่างๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประกอบด้วยทุ่งเชียงรากทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสักทุ่งท่าวุ้งทุ่งบางกุ่มทุ่งบางกุ้งทุ่งป่าโมกทุ่งผักไห่ทุ่งเจ้าเจ็ดทุ่งพระยาบรรลือทุ่งโพธิ์พระยาและสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่งคือทุ่งบางบาลและทุ่งรังสิตใต้สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้าน ลบ.ม.