กรมชลฯ ศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด จ.พัทลุงทั้งระบบ

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2017 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานอยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด จังหวัดพัทลุงทั้งระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและอุทกภัยในพื้นที่ของโครงการฯ และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ตลอดจนศึกษาแนวทางเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอกับความต้องการ และแนวทางการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนน้ำ

ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด ประสบปัญหาการแพร่กระจายน้ำ เนื่องจากคูส่งน้ำเป็นคลองดิน ระดับน้ำส่วนใหญ่ต่ำกว่าพื้นที่นา และปัญหาการระบายน้ำ เนื่องจากใช้คลองธรรมชาติเป็นคลองระบายน้ำแต่สภาพคลองธรรมชาติสายต่างๆ ตื้นเขินไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ระบบชลประทานและอาคารก่อสร้างมาเป็นเวลานาน ทำให้มีการสูญเสียน้ำมาก เช่น การรั่วซึม เป็นต้น รวมทั้งอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะดูแลและบำรุงรักษาอาคารต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียดดังกล่าวทั้งระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสภาพภูมิอากาศในอนาคต และเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ในกลยุทธ์ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำและระบบชลประทานเดิม สร้างมาเป็นเวลานาน มีการสูญเสียน้ำมาก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561

นอกจากนี้ ในการศึกษาได้พิจารณาถึงสภาวะที่น้ำทะเลหนุนบริเวณพื้นที่ตอนล่างของโครงการ พร้อมเสนอระบบการเกษตรและแผนการปลูกพืชที่เหมาะสม โดยนำ Agri-map และเกษตรแปลงใหญ่มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังจะศึกษาวางระบบโทรมาตรและการเตือนภัยอีกด้วย โดยให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ตลอดจนส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และรูปแบบองค์กรบริหารจัดการน้ำชลประทานที่เหมาะสม

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษท่าเชียดดังกล่าว เป็นโครงการชลประทานประเภทฝายทดน้ำ สร้างปิดกั้นคลองท่าเชียด หมู่ที่ 8 บ้านทุ่งโต๊ะหย๊ะ ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ก่อสร้างเมื่อปี 2514 พื้นที่ทั้งหมด 121,527 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 103,298 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำท่าเชียด-บางแก้ว (ตอนล่าง) ป้องกันน้ำท่วมเทศบาลแม่ขรี และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการให้ดีขึ้น

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า กรมชลประทานยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำฝายคลองหลักสาม ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก บรรเทาปัญหาอุทกภัย ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลคลองเฉลิม ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา และตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

สำหรับคลองหลักสามนั้น มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 2,307 มิลลิเมตร ปริมาณท่าไหลผ่านเฉลี่ยประมาณปีละ 124.18 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยมีคลองหลักสาม(คลองใหญ่) เป็นลำน้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัด ไหลงลงมาทางทิศตะวันออก มีความลาดชันสูง มีลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ คลองชะรัด น้ำตกมโนรา คลองนาบอน น้ำตกนกรำ คลองป่าแก่ คลองนาเหรน คลองบ้านพูด มีปริมาณไหลตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน เป็นลำน้ำขนาดเล็กความกว้างประมาณ 20-30 เมตร ดังนั้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำจะมีมาก และไหลค่อนข้างเร็ว ทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรของราษฎรในพื้นที่ได้รับความเสียหายทุกปี ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กรมชลประทานจึงมีแผนดำเนินโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำฝายคลองหลักสาม ดังกล่าวขึ้นมา

ทั้งนี้ ในการศึกษาโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำฝายคลองหลักสามเบื้องต้นนั้น จะประกอบด้วย การก่อสร้างท่อระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบยาว 345 เมตร ก่อสร้างคลองระบายน้ำดินขุด พร้อมอาคารประกอบ และคันดินถมบดอัดแน่น ความยาว 11.35 กิโลเมตร ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 4 แห่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 1 แห่ง และก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 18 แห่ง คาดว่าจะใช้งบลงทุนทั้งสิ้น ล้านบาทเกือบ 700 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ