กรมชลฯ จับตาพายุโซนร้อน“ทกซูรี" ให้พื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2017 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมเฉพาะกิจร่วมกับ 11 หน่วยงาน พร้อมประชุมทางไกล (VDO Conference) กับ 17 สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อติดตามการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อน “ทกซูรี” ที่จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองวินห์ ประเทศเวียดนามในวันนี้ และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเข้าปกคลุมประเทศลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยว่า จากการติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า พายุโซนร้อน “ทกซูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนคาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวตังเกี๋ย และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 15 ก.ย. 60 โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเข้าปกคลุมประเทศลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค กลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ทกซูรี” ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่เกิดสภาวะวิกฤติ โครงการชลประทานในพื้นที่ จะรายงานสถานการณ์น้ำ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมความพร้อม ในด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะเกิดน้ำท่วม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

ในส่วนของการนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงต่างๆ นั้น ปัจจุบันทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ได้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จหมดแล้ว สามารถรับน้ำเข้าทุ่งได้แล้วประมาณ 150 ล้าน ลบ.ม.(ความจุสูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 1.15 ล้านไร่ ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 997,501 ไร่ หรือ 85% ของพื้นที่เป้าหมาย คาดว่าเกษตรกรจะสามารถเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จทั้งหมดได้ภายในกลางเดือนกันยายนนี้ จากนั้น จะใช้พื้นที่ทุ่งต่างๆ เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงน้ำหลาก ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะต้องไม่กระทบต่อเส้นทางสัญจรหรือพื้นที่ชุมชน เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. – 25 ต.ค. 60 รวมปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างมาก

สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (14 ก.ย.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 53,282 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 12,541 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 29,463 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 สามารถรองรับน้ำได้อีก 21,932 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,627 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,158 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 5,531 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,017 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (15 ก.ย.) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 1,782 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มทรงตัวลดลงเล็กน้อย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.44 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,394 ลบ.ม./วินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 399 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ จะบริหารน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าคลองชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่ พร้อมกับทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับการควบคุม(ไม่เกิน +17.00 เมตร(รทก.) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างบริเวณอ.ผักไห่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ