กรมชลฯ ใช้ระบบโครงข่ายเบี่ยงน้ำผ่านเมือง บริหารจัดการแม่น้ำยมลดผลกระทบตัวเมืองสุโขทัย

ข่าวทั่วไป Monday September 18, 2017 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 30/2560 พร้อม VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั้ง 17 แห่ง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ระบุว่า สำหรับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ทกซูรี" ที่สลายตัวไปแล้วนั้น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา วัดปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงอยู่ในเกณฑ์ 50 – 90 มิลลิเมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำยมในปริมาณมากตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 16 กันยายน 2560 ซึ่งวานนี้ (17 กันยายน 2560) ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสูงสุดวัดได้ที่สถานี Y.37 อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ประมาณ 1,050 - 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) โดยปริมาณน้ำสูงสุดดังกล่าวได้ไหลมาถึงอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยในอัตรา 1,180 ลบ.ม./วินาที ในวันนี้ (18 กันยายน 2560 เมื่อเวลา 09.00 น.)

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม ด้วยการรับน้ำทางประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ก่อนจะผันน้ำบางส่วนเข้าสู่คลองหกบาท ในปริมาณ 250 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าแม่น้ำยมสายเก่า ปริมาณ 170 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าคลองสวรรคโลก-พิชัย ในปริมาณ 80 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าคลองสายใหญ่ C.1 ในปริมาณ 40 ลบ.ม./วินาที และผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำซึ่งเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นพื้นที่ทั้งหมด 265,000 ไร่ ปัจจุบันรับน้ำไปแล้ว 120,000 ไร่ รวมทั้งงดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และลดการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จาก 160 ลบ.ม./วินาที เหลือ 100 ลบ.ม./วินาที เป็นเวลา 2 วัน (วันที่ 17 - 18 กันยายน 2560) จากแผนการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จะไม่เกินระดับน้ำสูงสุดที่สามารถรับได้ (550 ลบ.ม./วินาที)

นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้กำชับให้สำนักงานชลประทานที่ 3 และ 4 บริหารจัดการน้ำร่วมกันและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงน้อยที่สุด พร้อมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำในอ่างเกินร้อยละ 80 เร่งระบายน้ำและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) คาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงวันที่ 18 – 19 กันยายน 2560 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้มีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 กันยายน 2560 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเคลื่อนลงไปยังภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยคาดการณ์ว่าประมาณวันที่ 15 ตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มอ่อนกำลังลงและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดปกคลุมประเทศไทยแทน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ปริมาณฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีมวลอากาศเย็นปกคลุมประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนชุก โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ