กรมชลฯ ยันดำเนินการนำน้ำเข้าทุ่งตามแนวทางประชาคมของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่

ข่าวทั่วไป Monday September 25, 2017 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของกรมชลประทานในช่วงปลายฤดูฝน และการบริหารจัดการทุ่งรับน้ำทั้ง 12 ทุ่ง ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูการทำนาปี 60 กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ การปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น ในพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงภัยน้ำท่วม จำนวน 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมา ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล และทุ่งรังสิตใต้ โดยได้เริ่มส่งน้ำให้เพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 จากเดิมที่ต้องรอน้ำฝนในการเตรียมแปลง เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมาในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม

สำหรับในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการทำประชาคมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำนา ซึ่งได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกำหนดให้ทำการเก็บเกี่ยวข้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2560 เพื่อจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ แต่การที่จะนำน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ได้นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณมาก และไม่สามารถระบายน้ำลงสู้ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ทั้งหมด กรมชลประทานจึงได้แบ่งน้ำส่วนหนึ่งที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เข้าคลองส่งน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อไม่ให้น้ำที่ระบายท้ายเขื่อนไหลลงไปส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีปริมาณน้ำหลากจำนวนมากไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด กรมชลประทานจึงทำการรับน้ำเข้าทุ่งเฉพาะตามความจำเป็น เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศ และโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เท่านั้น

ในส่วนของทุ่งอื่นๆ นั้น จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปริมาณฝนจะลดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ กรมชลประทานจึงได้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำค้างทุ่งที่จะไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จะลดลงหลังจากนั้นอีกประมาณ 10 วัน ประกอบกับระยะเวลารับน้ำเข้าทุ่งที่เก็บเกี่ยวแล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน กรมชลประทาน จึงได้กำหนดให้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทานหากมีน้ำหลากลงมา ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2560 เป็นต้นไป แต่หากไม่มีน้ำหลากเกิดขึ้น ก็ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของกลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ว่า จะให้นำน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่ของตนหรือไม่ ซึ่งกรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำประชาคมในแต่ละพื้นที่แล้ว ผลจากการจัดทำประชาคมออกมาเป็นอย่างไร กรมชลประทานจะได้ดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ