นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กอปภ.ก กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ ติดตามคาดการณ์พยากรณ์อากาศ พบว่า ในระยะนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว เมื่อมีฝนตกซ้ำในจุดเดิม อาจส่งผลให้สถานการณ์อุทกภัยขยายวงกว้างมากขึ้น
กอปภ.ก. จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้ 1) การป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยเชิงรุก มุ่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงระบบการแจ้งเตือนภัยที่แม่นยำ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว และหน่วยปฏิบัติ ในพื้นที่สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงบูรณาการทรัพยากรทั้งกำลังเจ้าหน้าที่วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยของทุกหน่วยงานให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการของภาครัฐผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ
2) การบูรณาการจัดการในภาวะฉุกเฉินทันท่วงที โดยสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมแบ่งมอบภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทั้งพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤต เพื่อชี้เป้าการปฏิบัติการให้เข้าถึงทุกพื้นที่ประสบภัย อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ บริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมขัง ตลอดจนเชื่อมโยงการระบายน้ำบริเวณรอยต่อเส้นทางน้ำไหลครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 3) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยถึงระดับครัวเรือน เน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัย ทั้งการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม แจกจ่ายถุงยังชีพ ตามวงรอบ กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอาศัยในสถานพักพิงหรือจุดอพยพที่ปลอดภัย รวมถึงให้เร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิต ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตร ตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำหนด ตลอดจนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยกลับสู่ภาวะปกติ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน และฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภคที่เสียหายให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามภาวะฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำชี ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ขอให้จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยประสานชลประทานจังหวัดควบคุมการเปิดปิดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมถึงระดับการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ หากมีแนวโน้มขยายวงกว้างให้จัดชุดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที รวมถึงสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อจะได้จัดวางกระสอบทรายและเสริมพนังกั้นน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชุมชน โบราณสถาน โรงพยาบาล และสถานที่สำคัญ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด