พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกับในปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2554 มาก อีกทั้งทุกหน่วยงานได้วางแผนบริหารจัดน้ำอย่างเป็นระบบและบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยได้นำบทเรียนในอดีตมาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตื่นตระหนกหรือหลงเชื่อข่าวลือของผู้ไม่หวังดี
“ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางเปรียบเทียบกัน 2 ปี มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 ต.ค.60 ปริมาณน้ำในเขื่อนของภาคเหนือรวมกันอยู่ที่ 18,318 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เมื่อ 11 ต.ค. 54 อยู่ที่ 24,477 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนของภาคกลางปีนี้มีปริมาณน้ำรวมกัน 1,287 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2554 อยู่ที่ 1,377 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ปริมาณน้ำท่าที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในปีนี้ก็น้อยกว่าปี 2554 ด้วยเช่นเดียวกัน"
อย่างไรก็ตาม จากฝนที่ตกหนักบริเวณภาคเหนือทำให้น้ำเหนือไหลลงสู่ภาคกลางอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้พยายามจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด เช่น ทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อชะลอน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเข้ารับน้ำเต็มศักยภาพ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 10 เขต ของกทม.ที่ประชาชนเป็นห่วง ได้แก่ เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางกอกน้อย คลองสาน และเขตราษฎร์บูรณะ นั้น ที่ผ่านมา กทม.ได้สร้างแนวกั้นน้ำแล้ว 77 กิโลเมตร มีระดับความสูงตั้งแต่ 2.80 - 3.50 เมตร ส่วนการระบายน้ำ ณ ประตูระบายน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายก่อนที่น้ำจะเข้าสู่ กทม.ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติคือเฉลี่ย 2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีศักยภาพรองรับได้อีกถึง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งต่างจากเมื่อปี 2554 ที่มีการระบายน้ำออกมากกว่า 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งกำชับให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานกับจังหวัด หน่วยทหาร และองค์กรปกครองท้องถิ่น เร่งออกช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดเพราะในช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากพายุในฤดูมรสุม เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือและป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้อย่างทันท่วงที