นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ฝนตกหนักเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง หลายครอบครัวต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำ มักเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เป็นระยะที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ในระยะนี้ จึงควรมีการกำหนดบทบาทของสมาชิกและหาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย จะช่วยลดความสับสนกระวนกระวายและวิตกกังวลลงได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ นึกถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น ระวังเรื่องไฟฟ้า หลังจากนั้นค่อยคิดหาทางออกเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับความสำคัญจากง่ายไปยาก ตลอดจน ลดการสื่อสารหลายช่องทาง ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการเป็นหลัก เพื่อลดการตื่นตระหนก และความวิตกกังวล สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ก็ขอให้จัดเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำไว้ใกล้ตัว เพื่อให้หยิบง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ห้ามขาดยาเด็ดขาด เพราะอาการจะกำเริบขึ้นได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยร่วมกับทีมแพทย์ฝ่ายกายอย่างทันท่วงที โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ หรือทีม MCATTจาก รพ.จิตเวช และศูนย์สุขภาพจิต ทำงานร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อประเมินผลกระทบ รวมทั้งดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ประสบอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยง โดยจะเน้นไปที่ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ใช้สารเสพติด ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และทรัพย์สินอย่างมาก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก กลุ่มผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายทุกราย โดยให้บริการปฐมพยาบาลทางใจ ตรวจคัดกรองประเมินปัญหาสุขภาพจิต ให้การปรึกษาเพื่อลดภาวะความเครียด ฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง หากพบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะรีบเข้าไปช่วยเหลือ พูดคุย สำหรับรายที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมากๆ จนถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อาจต้องให้ยาคลายความเศร้า หรือยาคลายความเครียดที่จะทำให้การนอนหลับดี ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ปฏิกิริยาทางจิตใจของผู้ประสบภัย เช่น ช็อค โกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว เศร้าโศก เสียใจ หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ สับสน ตำหนิตัวเอง วิตกกังวล ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้น ตกใจง่าย แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด เป็นต้น เหล่านี้ ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชในระยะยาว
การดูแลสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ 1. สำรวจจิตใจตนเองและเรียกขวัญคืนสติ เช่น การนับลมหายใจ จะช่วยให้จิตใจ สงบและสามารถยอมรับเพื่อเผชิญกับปัญหาได้ดีขึ้น 2. ยอมรับและเผชิญความจริงเพื่อแก้ปัญหา คิดถึงการคลี่คลายปัญหาที่ละขั้นตอนตามลำดับความจำเป็น คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นสำคัญ 3. มีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่กัน 4. ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ คนที่เครียดมักจะมีอาการนอน ไม่หลับ หลับยาก หรือหลับแล้วตื่นกลางดึก ฝันร้าย จึงควรหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน ให้เข้านอนเป็นเวลา หากไม่ง่วง ให้หากิจกรรมบางอย่างทำไปก่อน เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เป็นต้น รวมทั้ง หยุดพักการรับรู้ข่าวสารที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุความเครียด ให้ยืดเส้นยืดสาย สะบัดแขน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น ตลอดจน พูดคุยกับคนที่ไว้วางใจ สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน เพื่อปรับทุกข์ ที่จะช่วยระบายความเครียดได้ ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด ฯลฯ ทั้งนี้ หากอาการต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ให้ปรึกษาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ อสม. หรือ โทร.สายด่วน 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว