นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ด้านการรักษาพยาบาลว่า โรคไข้หวัดนกในสัตว์ที่มีความรุนแรงสูง สายพันธุ์ H5 และ H7 ทั่วโลก ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากกับประเทศที่พบไข้หวัดนก โดยจากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ยืนยันรวม 859 ราย เสียชีวิต 453 ราย จาก 16 ประเทศ และข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ยืนยันรวม 1,589 ราย เสียชีวิต 616 ราย จากประเทศจีนทั้งหมด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในคนและในสัตว์ 2.ด้านการรักษาพยาบาล 3.ด้านการตรวจวินิจฉัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4.ด้านการเตรียมความพร้อม 5.ด้านการสื่อสารความเสี่ยง และ 6.ด้านการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ยังต้องมีการบูรณาการงานร่วมกับภาคส่วนอื่นด้วย เช่น กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นต้น โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดซ้อมแผนรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดนก หากพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือ มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้การรักษาเสมือนว่าเป็นผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก จนกว่าจะมีผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าไม่ใช่ผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกหรือปลอดเชื้อในประเด็นการรักษาในโรงพยาบาลและห้องแยกโรค รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วย การสอบสวน ป้องกันและควบคุมโรค
นอกจากนี้ ได้มีจัดทำระบบการส่งต่อผู้ป่วยไข้หวัดนก และห้องแยกโรค จากข้อมูลของกองวิศวกรรมการแพทย์ พบว่ามีโรงพยาบาลภายในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 896 แห่ง และมีห้องแยกโรค 944 ห้อง ซึ่งต้องบำรุงรักษาให้พร้อมใช้อยู่เสมอ รวมทั้งการฝึกฝนบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญ พร้อมรับมือกับโรคไข้หวัดนก
ด้าน พญ.วรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกในคน ตั้งแต่ปี 49 และไม่มีรายงานโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ตั้งแต่ปี 51 แต่ก็ยังพบสัตว์ปีกป่วยตายในหลายพื้นที่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย พบผู้ป่วยไข้หวัดนกและสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้ง ยังพบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกบริเวณแนวชายแดน การเคลื่อนย้ายไก่พื้นเมือง ไก่ชน รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อในอุปกรณ์ต่างๆ หรือยานพาหนะ