กรมชลฯ เผยสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาดีขึ้นเป็นลำดับ คาดกลับสู่ปกติสิ้นต.ค.นี้ หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Saturday October 21, 2017 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ตาก และ กำแพงเพชร ส่งผลให้น้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดวันนี้ ปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ไปแล้วในเกณฑ์ 1,330 ลบ.ม./วินาที เมื่อช่วงค่ำของวานนี้ (20 ต.ค.) และจนถึงเช้าวันนี้ (21 ต.ค.) ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 1,301ลบ.ม./วินาที

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน (SWOC) คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จะสูงสุดในวันที่ 22 ต.ค.60 โดยจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันประมาณ 20 เซนติเมตร ก่อนจะไหลลงไปสมทบกับปริมาณน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา คาดว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกประมาณ 25 เซนติเมตร ในช่วงวันที่ 22 - 24 ต.ค.60 กรมชลประทานได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำไว้และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไม่เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 3,044 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1 เมตร ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.21 เมตร(รทก.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,598 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ทรงตัว กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ในช่วงวันที่ 17 - 22 ต.ค.60 โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงปิดการระบายน้ำ ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ยังคงการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนตามความเหมาะสม และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีการระบายน้ำวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของมาตรการรับมือน้ำเหนือจากนครสวรรค์นั้น ปัจจุบันยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ จากเดิม 140 เป็น 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 22 - 26 ต.ค.60 ส่วนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกจะงดการรับน้ำท่า (Side flow) จากบริเวณฝั่งซ้ายลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่วันที่ 21 - 26 ต.ค.60 เพื่อที่จะรับน้ำเข้าระบบชลประทานให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ จากเดิม 120 เป็น 190 - 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 22 - 26 ต.ค.60 รวมไปถึงการรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

สำหรับในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จะต้องรับน้ำต่อจากพื้นที่ตอนบน กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการ เตรียมพร้อมรับมือในการบริหารจัดการน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมาจากตอนบนอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้น้ำระบายออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชลประทานประสานกับฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ให้รับทราบสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน พร้อมกับให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำ เข้าไปเตรียมความพร้อมที่สนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่อาจประสบปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งในบางพื้นที่แล้ว

"สรุปสถานการณ์ในภาพรวมของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่านที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา จะทำให้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาดีขึ้นโดยลำดับ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้" รองอธิบดีกรมชลประทานระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ