นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนเริ่มดีขึ้น หลังปริมาณน้ำในแม่เจ้าพระยาบริเวณสถานีC.2 อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์ลดลงเหลือ 2,979 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกรมชลประทานยังคงปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,697 ลบ.ม./วินาทีมาตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน (27 ต.ค.60) ยังคงระบายน้ำในอัตราเท่าเดิมโดยได้แบ่งรับบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบางส่วน เข้าสู่ระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวมประมาณ 769 ลบ.ม./วินาทีไม่มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด
ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ไหลมาถึงบริเวณจังหวัดปทุมธานีนนทบุรีและกรุงเทพมหานครแล้วโดยไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตามที่เป็นข่าวลือในโลกโซเซียลมีเดียทั้งนี้ พื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี, อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 14 จุดเท่านั้น
อีกทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอัตราการไหลเฉลี่ย 2,826 ลบ.ม./วินาทียังต่ำกว่าความจุของลำน้ำมาก(บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ปริมาณน้ำดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่อย่างใด
สำหรับกรณีของคลองรังสิตนั้น เนื่องจากต้องแบ่งเบาปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเขื่อนพระรามหกด้วยการเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์มากขึ้น ส่งผลให้น้ำในคลองต่างๆรวมถึงคลองรังสิต มีระดับน้ำสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้เนื่องจากในคลองเหล่านี้ จะมีอาคารบังคับน้ำสถานีสูบน้ำที่จะควบคุมปริมาณน้ำและระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ โดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง