นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค จากข้อมูลภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เก็บตัวอย่างหนอนตัวแบนนิวกินี 15 ตัว จากพื้นที่แหล่งเดียวกันใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งตรวจไปแล้ว 10 ตัวอย่าง ไม่พบว่ามีตัวอ่อนของพยาธิหอยโข่ง พบเพียงตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมไม่ทราบชนิด หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นนักล่าหอย หากหนอนกินหอยที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง พยาธิจะเข้าไปอยู่ในตัวหนอน ซึ่งหากคนบังเอิญรับประทานอาหาร หรือผักสดที่อาจมีหอย หรือหนอนขนาดเล็กๆ หลบซ่อนอยู่ก็อาจจะได้รับเชื้อพยาธิเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยติดโรคพยาธิปอดหนู (พยาธิหอยโข่ง) ที่มีพาหะแพร่โรคมาจากหนอนตัวแบนชนิดนี้
“กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลประชาชนว่า พาหะแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย หรือพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่งในธรรมชาติ ได้แก่ หอยต่างๆ เช่น หอยบก หอยน้ำจืด (หอยโข่ง หอยเชอรี่ หอยขม) และทาก เป็นต้นเมื่อคนกินหอยดิบ ก็สามารถมีตัวอ่อนระยะติดต่อได้ รวมถึงในผักและพืชผักต่างๆ ที่หอยทากคลานผ่านก็มีโอกาสปนเปื้อนตัวอ่อนและเป็นแหล่งแพร่โรคได้เช่นกัน"
ทั้งนี้ โรคไข้ปวดหัวหอย หรือพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน จึงขอแนะนำให้ประชาชนเน้นการรับประทานอาหารแบบ “สุก ร้อน สะอาด" ดังนี้ 1.กินหอยที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงการกินหอยที่ดิบ หรือสุกๆดิบๆ 2.ควรล้างทำความสะอาดผักสดก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่ลวกหรือต้มสุกแล้วเท่านั้น 3.และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่ และ 4.ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
นอกจากนี้ ยังขอแนะนำวิธีการล้างผักให้สะอาดลดความเสี่ยงจากหนอนพยาธิ และสารเคมี โดยให้ล้างผักในน้ำ 1 กะละมัง (20 ลิตร) ผสมผงฟู 2 ช้อนชา แช่ผักไว้ 15 นาที แล้วล้างต่อด้วยน้ำ 1 กะละมังผสมด่างทับทิม 2 เกล็ด