นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี น.พ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค.60 เนื่องจากกรณีดังกล่าวต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 คือรัฐบาลต้องดำเนินการภายใน 1 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60
"เป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของครู โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนดังกล่าว และเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคทรัพย์สินกองทุนดังกล่าวได้โดยได้รับการลดหย่อนภาษี" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับการศึกษาไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 6 ปี ซึ่งอาจเกิดจากทุนทรัพย์ของผู้ปกครอง คุณภาพของสถานศึกษา โดยกองทุนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือ 4.3 ล้านคน ประกอบด้วย 6 กลุ่ม คือ 1.เด็กเล็ก (0-2 ขวบ) ของครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์ 2.เด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ขวบ) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 3.เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาภาคบังคับ 4.กลุ่มครูและอาจารย์ 5.การจัดทำระบบข้อมูล และ 6.การพัฒนาระบบนวัตกรรม
โดยเงินทุนจะมาจาก 4 แหล่ง คือ 1.ทุนประเดิมจากรัฐบาล 1 พันล้านบาท 2.เงินอุดหนุนรายปี ซึ่งจะต้องไปหารือกันถึงจำนวนที่เหมาะสม แต่เบื้องต้นมีข้อเสนอ 5% ของงบประมาณที่ช่วยการศึกษาเด็กยากจน หรือราว 2.5 หมื่นบ้านบาท 3.เงินบริจาคของผู้เสียภาษีคนละไม่เกิน 5 พันบาท/ปี ซึ่งสามารถนำไปหักลดภาษีได้สองเท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของรายได้ ส่วนนิติบุคคลต้องไม่เกิน 2% ของกำไร หรือ 5 แสนบาท และ 4.เงินจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
"นายกฯ ให้มุ่งสู่เป้าหมายการช่วยเหลือของรัฐบาลคือเด็กปฐมวัย ซึ่งมีผลการศึกษาว่าเป็นกลุ่มที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วได้ผลตอบแทนคุ้มค่ามากที่สุด และไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนฯ ที่มีก่อนหน้านี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ วาระ 3 ปี เป็นกองทุนอิสระที่ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี