นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ยะลา สตูล และสุราษฎร์ธานี รวม 74 อำเภอ 396 ตำบล 2,540 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 113,900 ครัวเรือน 385,498 คน เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 จังหวัด โดยจังหวัดสตูลสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย ลุ่มน้ำปัตตานี 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง อำเภอไม้แก่น อำเภอสายบุรี อำเภอปะนาเระ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอแม่ลาน อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอยะหริ่ง และอำเภอมายอ รวม 70 ตำบล 349 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,956 ครัวเรือน 26,390 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย, จ.ยะลา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง อำเภอรามัน อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอเบตง รวม 48 ตำบล 240 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,834 ครัวเรือน 71,473 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเทพา อำเภอนาหม่อม อำเภอสทิงพระ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอควนเนียง อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอรัตภูมิ รวม 69 ตำบล 469 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,430 ครัวเรือน 50,456 คน เสียชีวิต 2 ราย, จ.พัทลุง เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าพะยอม อำเภอป่าบอน อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว และอำเภอตะโหมด รวม 64 ตำบล 629 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 36,821 ครัวเรือน 114,116 คน
ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด อำเภอนาโยง อำเภอปะเหลียน อำเภอวังวิเศษ และอำเภอกันตัง รวม 37 ตำบล 218 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,479 ครัวเรือน 15,521 คน
ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นราธิวาส น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุคิริน อำเภอระแงะ อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอตากใบ อำเภอศรีสาคร อำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโก – ลก และอำเภอแว้ง รวม 67 ตำบล 465 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,057 ครัวเรือน 86,094 คน, จ.นครศรีธรรมราช น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอบางขัน อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอช้างกลาง อำเภอทุ่งสง และอำเภอร่อนพิบูลย์ รวม 22 ตำบล 91 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,315 ครัวเรือน 5,042 คน
ลุ่มน้ำตาปี 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอพระแสง อำเภอชัยบุรี และอำเภอเวียงสระ รวม 11 ตำบล 29 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 73 ครัวเรือน 329 คน
ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ตามแผนเผชิญเหตุ รวมถึงให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งเต็นท์ที่พัก รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก