นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ณ เขื่อนเพชร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักชลประทานที่ 14 อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยนายวิวัฒน์กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 20-21 พ.ย. 60 ที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ จ.เพชรบุรี เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำจนเกิดปริมาณฝนสะสม โดยลุ่มน้ำเพชรบุรีบริเวณเหนือเขื่อนเพชร มีพื้นที่รวม 4,050.9 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เหนือเขื่อนเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยผาก และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ 2,853 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง 1,197 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำจากฝนที่ตกหนักได้เฉพาะพื้นที่บริเวณเหนืออ่าง แต่พื้นที่บริเวณท้ายอ่างไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่จันต์ เป็นสาเหตุให้เกิดอุทกภัยในครั้งนี้ อีกทั้ง ทำให้คลองส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีเกิดการชำรุดเสียหาย จึงได้เริ่มดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี (2560 - 2564) พื้นที่รับประโยชน์ 300,000 ไร่ 78,000 ครัวเรือน งบประมาณ 5,500 ล้านบาท ประกอบด้วย การปรับปรุงคลองส่งน้ำให้สามารถส่งน้ำและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มช่องทางระบายน้ำจากพื้นที่ราบลุ่มให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว (ขุดคลองใหม่) และขุด/ขุดขยายทางระบายน้ำที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ตลอดจนดักน้ำโดยการผันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน
“ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากได้รับทราบถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ที่ต้องเผชิญทั้งน้ำท่วม และภัยแล้งติดต่อกัน ตลอดจนเดินทางมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะนำผลการหารือร่วมกันในเรื่องการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำเสนอในที่ประชุมในวันที่ 8 ธ.ค. ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพานิชย์ ณ กระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งงบประมาณโครงการ 5,500 ล้านบาทนั้น จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพิจารณาหารือกันอีกครั้ง" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ประสบอุทกภัย จ.เพชรบุรี ปี 2560 รวมทั้งสิ้น 70,585.13 ไร่ พื้นที่ในเขตชลประทาน 59,501.87 ไร่ โดยที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เขื่อนแม่ประจันต์ หน่วง/ชะลอน้ำเพื่อระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนให้ลดลงก่อนและพร่องน้ำระบายน้ำในอ่างภายหลัง ส่วนเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนห้วยผากปิดการระบาย นอกจากนี้ใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการชะลอรักษาระดับน้ำไว้หน้าเขื่อนส่วนหนึ่ง แบ่งการระบายเป็น 2 ช่องทางเข้าคลองส่งน้ำ 4 สาย และระบายลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมเครื่องมือเครื่องจักร ใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำลงทะเล
ส่วนพื้นที่น้ำท่วมใช้เครื่องสูบน้ำสูบเร่งการระบายออกจากพื้นที่ และใช้รถแบคโฮเสริมคันตลิ่งและขุดเปิดเส้นทางระบาย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยเขื่อนเพชรปัจจุบันระบายลงแม่น้ำเพชรบุรีอัตรา 23.32 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับเปิดระบายผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ 4 สาย 1.50 ลบ.ม./วินาที (พร่องน้ำในคลองส่งน้ำเพื่อระบายน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร) ระดับแม่น้ำในเพชรบุรี ที่สถานี B.15 สะพานเทศบาลเมืองเพชรบุรี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.38 ม. ทรงตัว สถานการณ์ปกติ ส่วนพื้นที่ชุมชนการเกษตรนอกเมือง ขณะนี้เหลือพื้นที่น้ำค้างทุ่งประมาณ 6,000 ไร่ ปริมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. (พื้นที่บางส่วนใน ต.หนองปลาไหล อ.เขาย้อย/ต.บางจาน ต.บางจาก ต. ธงชัย อ.เมือง/ต.บางขุนไทร ต.บางครก อ.บ้านแหลม ) ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่จะคงเหลือระดับน้ำขังไว้ในแปลงนา 10-15 ซม. ไม่ระบายออกทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับเตรียมแปลงทำนาปรังต่อไป