นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่า ตามที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบาย 3 ต. เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนแผนการดำเนินงานของ ส.ป.ก.ที่มีอยู่เดิม ล้วนเป็นแผนงานที่ดีสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งจะได้เข้ามาดำเนินการสานต่องานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกร การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร และการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นต้น
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานเชิงรุกจะสามารถถูกต้องแม่นยำได้นั้น จะต้องมีพื้นฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกหน่วยงานสามารถนำไปบูรณาการใช้ร่วมกันได้โดยสะดวกรวดเร็ว มีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยหลังจากนี้จะเชิญ 10 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ร่วมบูรณาการแผนปฏิบัติงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยกำหนดเป้าหมายของพื้นที่ และกลุ่มบุคคล รวมทั้งปรับปรุงแผนที่ที่มีความทับซ้อนให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานไม่มีความซ้ำซ้อนทั้งด้านงบประมาณ และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรต่อไป
นอกจากนี้ เตรียมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ 1) พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักฯ ครอบคลุม 7 จังหวัด พื้นที่ 10 ล้านไร่ ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ และการกักเก็บน้ำในอ่างฯ ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ได้เริ่มดำเนินการลงสำรวจพื้นที่ในเบื้องต้นแล้ว 2) พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโสมง จะเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บลงอ่างฯ มากขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ส่งน้ำ 100,000 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3) การแก้ไขปัญหาเกษตรกรรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งจากการรายงานพบว่า จ.น่าน มีเกษตรกรรุกล้ำพื้นที่ป่าแล้วจำนวนล้านกว่าไร่ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปช่วยเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว โดยจัดระบบใหม่และคืนพื้นที่ป่าต้นน้ำต่อไป
ขณะเดียวกัน ได้มีการเตรียมแผนงานด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ การเตรียมมาตรการรับมือภัยแล้ง การจัดงานวันดินโลกในปีต่อๆ ไป และการเตรียมรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ เป็นต้น