นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ธ.ค.60 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 3,257 ราย เสียชีวิต 59 ราย โดยภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเสียชีวิตจากโรคไข้ฉี่หนู 4 ราย ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ตรัง, ยะลา, สงขลา และสุราษฎ์ธานี
สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ในบางพื้นที่เป็นช่วงที่น้ำลด อาจทำให้ความเข้มข้นของเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในหลายจังหวัดภาคใต้
ทั้งนี้ โรคไข้ฉี่หนูเกิดจากแบคทีเรียในฉี่ของหนู, โค, กระบือ, สุกร และสุนัขที่ติดเชื้อ โดยเชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำดินที่เปียกชื้น ในแอ่งน้ำขังเล็กๆ ซึ่งเชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังผ่านแผลถลอก ขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก และยังไชเข้าผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ อาการของโรค คือมีไข้สูง ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง ตัวเหลือง
อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะนำให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง ถ้ามีแผลควรปิดด้วยวัสดุกันน้ำ และไม่ควรเดินย่ำในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะบริเวณแอ่งน้ำขังเล็กๆ หรือในดินโคลนช่วงทำความสะอาดบ้าน เนื่องจากปริมาณเชื้อฉี่หนูจะมีความเข้มข้นสูง ทำให้ผู้ที่มีบาดแผลหรือมีรอยถลอกที่บริเวณเท้า ขา หรือมือจะเพิ่มความเสี่ยงสูงมาก
"หากประชาชนเดินลุยน้ำท่วมขังแล้ว ป่วยตามอาการข้างต้น อาจป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนูได้ ขอให้รีบพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ลุยโคลน หรือหากมีข้อสงสัยเรื่องโรคและภัยสุขภาพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นพ.สุวรรณชัย กล่าว