พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ จ.จันทบุรีได้อนุมัติแผนงานสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่าพื้นที่ของหลายจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นราวปีละ 1 แสนคน และส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในปี 2570 และในปี 2579 คาดว่ามีความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ถึง 1,000 ล้านลบ.ม. ในขณะที่ปัจจุบันมีการจัดหาน้ำได้ 427 ล้านลบ.ม. ซึ่งถือว่ายังเพียงพอกับความต้องการใช้ซึ่งมีอยู่ที่ 325 ล้านลบ.ม.
ดังนั้น จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนโครงการในพื้นที่ EEC โดยรองรับการจัดหาน้ำเพื่อให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า ประกอบด้วย
1. การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ 6 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่, อ่างเก็บน้ำคลองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด, อ่างเก็บน้ำคลองค้อ, อ่างเก็บน้ำมาบประชัน และอ่างเก็บน้ำบ้านบึง ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำได้อีกราว 75 ล้านลบ.ม.
2. การจัดทำอ่างเก็บน้ำใหม่อีก 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่, อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ซึ่งคาดว่าจะเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 308 ล้านลบ.ม.
3. การเชื่อมโยงแหล่งน้ำด้วยการขุดคลองระบายน้ำ และการผันน้ำ ซึ่งคาดว่าในระยะ 5 ปี จะสามารถเพิ่มปริมาณต้นทุนน้ำได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม.
4. การสูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ คาดว่าจะสามารถดึงน้ำกลับมาใช้ได้อีก 55 ล้านลบ.ม.
"บวก ลบ คูณ หาร ของใหม่ที่ทำ กับของเก่าที่มีอยู่อีก 427 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นถ้าทำตามแผนนี้ รวมทั้งมีแหล่งสำรองน้ำจากภาคเอกชนอีกนิดหน่อย ก็เชื่อว่าเพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำ 800 ล้านลบ.ม. ในอีก 10 ปี ซึ่งหลังจากครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปเตรียมความพร้อม จัดทำแผนปฏิบัติการของตัวเองที่จะรองรับแผนใหญ่ข้างต้น และให้ทบทวนด้วยว่าแผนที่เสนอมานี้สามารถเพิ่มต้นทุนน้ำได้ตามที่คาดการณ์ไว้จริงไหม เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดไปจากประมาณการที่มีอยู่ ซึงครม.ได้อนุมัติแผนนี้ และมั่นใจว่าถึงปี 2570 เราจะมีปริมาณน้ำรองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC เพียงพอ" พล.ท.สรรเสริญระบุ