กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช้าวันนี้ว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 69-94 ไมโครกรัม (มคก.) / ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 5 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะ การเผา และการก่อสร้าง เพื่อที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 88% ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศสะสมเพิ่มขึ้นได้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานการเจ็บป่วยของประชาชนที่เป็นผลกระทบจากฝุ่นขนาดเล็ก หรือพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับผลกระทบจาก PM 2.5 อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง เพราะประชาชนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็กดังกล่าว ขอให้พักผ่อนอยู่ในบ้าน ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก ขอให้ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก นอกจากนี้ควรช่วยกันลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ และลดการใช้รถยนต์หรือใช้เท่าที่จำเป็น และขอให้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบนำตัวส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที