สจล. แนะหน่วยงานรัฐมอนิเตอร์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั่วกทม. ชี้ระบบ"สมาร์ท ซิตี้"คือทางออก

ข่าวทั่วไป Friday February 9, 2018 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนกรุงโดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้ขณะนี้หน่วยงานด้านสุขภาพได้ออกมาเตือนและแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องออกจากอาคาร และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะ การเผา และการก่อสร้าง เพื่อที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ในบางพื้นที่จะเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับคนกรุงในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และสะท้อนว่าขณะนี้ผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนเมืองอีกต่อไป ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งบูรณาการทำงานร่วมกัน ในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร กำลังเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าและปรับปรุงถนนและทางเชื่อมแยก รวมไปถึงโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยตามการขยายของเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นในอากาศ นอกเหนือไปจากควันรถยนต์และการเผาไหม้

"แน่นอนว่าการพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เท่าทันการขยายของเมือง แต่เนื่องจากโครงการก่อสร้างเหล่านี้มีส่วนสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครควรดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยจัดให้มีระบบมอนิเตอร์ค่าฝุ่นละอองในเขตพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกแห่งตลอดเวลา หากพื้นที่ไหนค่าการตรวจวัดมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน ต้องทำการแจ้งเตือนเพื่อให้ผู้รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการ ลดหรือควบคุมฝุ่นละอองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างทันท่วงที" นายสุชัชวีร์ กล่าว

ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังนั้น ขณะนี้ได้เร่งผลักดันแนวทางพัฒนากรุงเทพมหานครสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุง โดยจัดตั้งสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart City innovative Research Academy: SCiRA) ขึ้น ซึ่งพบว่าในเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปรับทุกระบบให้พร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) และระบบสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Health) สำหรับการมอนิเตอร์และแจ้งเตือนประชาชนให้ปฏิบัติตนได้ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงระบบสารสนเทศอัจฉริยะ (Smart IT) ในการกระจายข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนเข้าถึงประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดย SCiRA จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่คอยรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูล เผยแพร่ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ