นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ว่า การตรวจวัดค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยา เขตบางนา ของวันที่ 14 ก.พ.61 พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครมีความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้การระบายอากาศไม่ดี จึงเกิดการสะสมตัวของฝุ่นละออง ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นที่ตรวจวัดได้มีปริมาณสูงเกินมาตรฐาน
ทั้งนี้ กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้พบว่าสภาวะดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงกับสุขภาพของประชาชน โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด
ด้านหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้เฝ้าระวัง 4 โรคสำคัญ คือ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนังที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมทั้งเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน รวมทั้งมีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในวันที่มีค่าฝุ่นสูง ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ป่วยไข้หวัดก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากค่าฝุ่นละอองไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกที่ มีการปรับขึ้นลงไม่เท่ากันทุกวันและไม่ได้สูงอยู่ตลอดเวลา ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้ กทม.ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ รวมถึงดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามมาตรการ 15 ลด 2 เพิ่ม ประกอบด้วย มาตรการลดมลพิษจากการจราจร ได้แก่ เข้มงวดการตรวจจับรถยนต์ควันดำ เข้มงวดตรวจวัดมลพิษจากรถราชการสังกัด กทม.ทุกคัน ตรวจสอบรถบรรทุกหรือรถขนย้ายวัสดุให้มีผ้าใบปิดคลุมให้มิดชิด ประสานจัดการจราจรให้คล่องตัว รณรงค์ไม่ขับช่วยดับเครื่อง ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน รณรงค์ให้ประชาชนหมั่นดูแลรักษาเครื่องยนต์
มาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ได้แก่ ควบคุมบริเวณก่อสร้างให้มีรั้วทึบโดยรอบ คุมเข้มให้มีผ้าใบปิดคลุมการก่อสร้างให้มิดชิด กำชับให้มีการล้างล้อรถก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง มาตรการลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและเผาในที่โล่ง ควบคุมดูแลกิจการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และรณรงค์ให้ผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่างริมบาทวิถีใช้เตาลดมลพิษ และมาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความถี่ในการทำความสะอาดที่สาธารณะ ได้แก่ เพิ่มการปลูกต้นไม้บริเวณริมถนนและเกาะกลาง และเพิ่มความถี่ในการล้างถนนและดูดฝุ่นถนน เป็นต้น
รวมทั้งได้หารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อกำชับผู้รับเหมาปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละอองและด้านการจราจรที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยจัดทีมออกตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มไลน์เพื่อติดตาม ประสานงานและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจะติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเสาเหล็กบริเวณริมถนนสายหลักกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อตรวจวัดและติดตามคุณภาพอากาศ
ในส่วนของมาตรการระยะยาว กทม.จะเพิ่มสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ได้แก่ สวนสาธารณะบริเวณซอยเพชรเกษม 69 เขตบางแค สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เขตบางบอน สวนสาธารณะในสถานีพัฒนาที่ดิน กทม. เขตบางขุนเทียน และสวนสาธารณะบึงลำไผ่ เขตมีนบุรี รวมทั้งผลักดันให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียง พ.ศ.2560-2566 เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศรวมทั้งฝุ่นละอองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การจัดการจราจร การจัดทำทางจักรยาน การรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การจัดทำจุดเชื่อมต่อการเดินทางรองรับระบบขนส่งสาธารณะ การเข้มงวดการให้ใบอนุญาตตั้ง/การต่อใบอนุญาตโรงงาน สถานประกอบการการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างโดยตรวจสอบและควบคุมการดำเนินโครงการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ เป็นต้น
ทั้งนี้ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันลดฝุ่นละอองในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ไม่เผาขยะหรือหญ้า เป็นต้น