นักวิชาการ คาดเสนอมาตรการเฉพาะกิจเพิ่มเติมแก้ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 20, 2018 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยในงานเสวนา "ภัยร้าย ฝุ่น กลางเมือง" ว่า วิกฤตการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวัน ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.ของทุกปี โดยจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะสั้นต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และเมื่อเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 รายวัน ในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ ในหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาจนถึงปี 2561 นี้ อยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงไปกว่าในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา

โดยจากสถิติข้อมูลย้อนหลังไป 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่าค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 25% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ของปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นผลจากการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐาน Euro 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษ รวมทั้ง PM2.5 จากรถยนต์ทั้งรถเก่าและรถใหม่ ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ กำลังพิจารณาที่จะเสนอให้นำมาตรฐานน้ำมันและรถยนต์ ระดับ Euro 5 มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยรวมในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยลดลงได้ในอนาคต โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกับภาคผู้ผลิตน้ำมันและรถยนต์แล้วถึงกำหนดระยะเวลาที่จะนำมาใช้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคงอยู่ไปจนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนทุกคนต่างมีส่วนในการทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 จากกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ อาทิ การใช้ยานพาหนะ การเผา โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และการประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภาคประชาชนต้องช่วยกันลดการก่อให้เกิดฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษอากาศ แต่ความรุนแรงจะลดลง หากเพิกเฉยกับประเด็นดังกล่าว และทางภาครัฐไม่มีการกำหนดมาตรการ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เข้มข้นในช่วงวิกฤติ สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปีต่อๆ ไปก็อาจจะยังคงรุนแรงต่อเนื่องต่อไป

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของข้อเสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน สำหรับช่วงก.พ.-เม.ย.ของทุกปี เพิ่มเติมจากในช่วงปกติ โดยเสนอให้มีการ "ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ" เช่น 1) ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก 2) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตาม พรบ.การขนส่งทางบก หรือป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน 3) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่ ในลำดับถัดไป และ 4) ออกประกาศจังหวัด ห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

พร้อมกันนี้ต้องทำการ "ลดปริมาณการระบายมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิด" ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น 1) จัดการจราจรให้คล่องตัว ซึ่งจะทำให้การระบายมลพิษอากาศจากการคมนาคมขนส่งลดลง อาทิ ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ 06:00 ถึง 21:00 น. และจัดระเบียบการจราจรและคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามกฎจราจรอย่างเขัมงวด 2) ควบคุมการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเกิดและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ตามข้อกำหนดของ กทม. และให้จังหวัดปริมณฑลดำเนินการในลักษณะเดียวกัน 3) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้การก่อสร้างโครงการของรัฐปรับแผนการก่อสร้างเพื่อลดกิจกรรมหรือชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และ 4) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้มีการเผาศพเฉพาะที่ใช้เตาเผาศพไร้ควันเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้อีกมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ