พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน, การทำงานของคนต่างด้าว, การรับคนต่างด้าวเข้าทำงานให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น ตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 (พ.ศ....) โดยมีสาระสำคัญในการยกเลิกการห้ามคนต่างด้าวเข้ามามีอาชีพเป็นกรรมการหรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ และกำหนดห้ามเฉพาะการเข้ามาทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
"ปีก่อนช่วงมิ.ย.60 ที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 พบว่ามี 4 มาตรา ที่อัตราโทษค่อนข้างรุนแรง คือ มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 ซึ่งใน 4 มาตรานี้ รัฐบาลจึงเห็นว่าประชาชนอาจจะปรับตัวไม่ทัน จึงออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศ เว้นแต่เฉพาะ 4 มาตราให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป ซึ่งมีระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันนั้น เพื่อให้เวลาลูกจ้างและนายจ้างไปดำเนินการให้ถูกต้องทั้งการเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย และการขออนุญาตทำงานที่ถูกต้อง โดยระหว่างนั้นให้นำ พ.ร.ก.ฉบับเดิมไปปรับปรุงให้ทันสมัย และมีรายละเอียดครบถ้วน ซึ่งล่าสุดกฤษฎีกาได้นำเสนอกลับเข้ามาใหม่แล้ว" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
หลักการแรกที่สำคัญ คือ จะยกเว้นบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาหรือมาประกอบการ หรือลงทุนในเมืองไทยที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีทักษะสูงอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยถ้าเป็นบุคคลประเภทนี้จะไม่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว แต่จะไปเข้าลักษณะของ Smart Visa คือไม่ใช่แรงงานทั่วไป
หลักการที่ 2 จะเปลี่ยนจากระบบอนุญาตในบางเรื่องมาเป็นระบบแจ้ง เพราะบางเรื่องต้องใช้เวลานานและเป็นภาระแก่ประชาชนค่อนข้างมาก ดังนั้นเรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ใช้วิธีการแจ้งให้ทราบ เช่น การจ้างคนงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เมื่อได้เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง การที่นายจ้างจะจ้างบุคคลเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตอีก แค่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ หรือแม้แต่การเปลี่ยนประเภทงาน เปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนสถานที่ทำงาน จากเดิมที่ต้องขออนุญาตหมด ปัจจุบันถ้า พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ก็จะเป็นเพียงการแจ้งให้นายทะเบียนรับทราบเท่านั้น
หลักการที่ 3 จะยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตที่พักอาศัยของผู้รับอนุญาตให้ทำงาน ซึ่งเดิมหากแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ที่ไหน ต้องทำงานอยู่ในท้องที่นั้นๆ แต่ในกฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่จะไม่กำหนดหรือจำกัดว่าต้องทำงานอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น เพื่อต้องการให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจากข้อสังเกตของหลายฝ่าย เช่น มาตรฐานของผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างที่เดิมมีโทษเท่ากัน ล่าสุดได้แก้ไขให้มีโทษหนักเบาต่างกันไป นอกจากนี้ หากเป็นเอเย่นต์หรือบริษัทนายหน้าพาแรงงานเข้ามา จะต้องมีออร์เดอร์งานก่อนจึงสามารถนำแรงงานเข้ามาได้, ห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงาน ยกเว้นค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้มีกำหนดราคาชัดเจนแล้ว ซึ่ง 3 กรณีนี้แรงงานต่างด้าวต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หรือให้นายจ้างจ่ายให้ก่อนแล้วค่อยเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวที่เป็นลูกจ้างในภายหลัง, ระยะเวลาที่เอเยนต์รับแรงงานเข้ามาทำงานแล้วภายหลังมีการเปลี่ยนตัวนายจ้างนั้น จากเดิมที่กำหนดเวลา 15 วัน ให้ยืดเวลาออกไปเป็น 30 วัน, แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน จะต้องไม่เคยได้รับโทษในการทำงานผิดกฎหมายมาก่อน หรือถ้าเคยต้องโทษมาแล้ว ต้องพ้นจากการต้องโทษอย่างน้อย 2 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 ปี, การเก็บหนังสือเดินทางหรือใบอนุญาตทำงานของลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างสามารถเป็นผู้จัดเก็บไว้ได้ แต่ต้องได้รับคำยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน และลูกจ้างสามารถขอคืนได้ทุกเวลา
พร้อมกันนี้ ยังมีการปรับปรุงแก้ไขบทลงโทษ เช่น จากเดิมในมาตรา 101 หากแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 2,000-1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในร่างแก้ไขใหม่ได้ตัดโทษจำคุกออก และให้มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-5 หมื่นบาท โดยคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นผู้พิจารณา
มาตรา 102 เดิมนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษ 4-8 แสนบาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ให้เปลี่ยนมาเป็นปรับตั้งแต่ 1 หมื่น - 1แสนบาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากนายจ้างทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 หมื่น - 2 แสนบาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน รวมทั้งห้ามแรงงานต่างด้าวที่กระทำผิดซ้ำ จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานเป็นเวลา 3 ปี
"ยังมีบทเฉพาะกาล ที่เดิมคำสั่ง คสช. ใน 4 มาตรา ได้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.61 ซึ่งวันนี้ร่าง พ.ร.ก.ฯ ได้ผ่านความเห็นชอบของครม.แล้ว กว่าเข้ากระบวนการจนออกมาเป็นประกาศและมีผลบังคับใช้ จึงได้มีบทเฉพาะกาลให้ยืดการบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตรา ออกไปอีกระยะ คือ เลื่อนไปเป็น 1 ก.ค.61" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ