สภาพัฒน์ ห่วงแนวโน้มแรงงานลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ จับตาผลกระทบการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Friday March 9, 2018 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/60 และภาพรวมปี 60 ว่า กำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยในปี 60 มีกำลังแรงงาน 38.08 ล้านคน ลดลงจาก 38.64 ล้านคน ในปี 53 ขณะที่กำลังแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการ โดยตลาดมีแนวโน้มต้องการแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น ภาคบริการที่มีการจ้างงานสำคัญ คือ การค้าส่งค้าปลีก โรงแรมและภัตาคาร ฯลฯ

นอกจากนั้น แรงงาน 62% ยังมีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และมีสัดส่วนแรงงานอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึง 31.1% และในช่วง 15 ปี (พ.ศ. 2545-2560) มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.1% ขณะที่เด็กวัยเรียนยังมีปัญหาการออกกลางคัน และมีคะแนนสอบ PISA และ O-NET ในระดับต่ำทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ จึงเป็นเรื่องท้าทายต่อทุกภาคส่วนในการให้เตรียมพัฒนาคนตั้งแต่เด็กปฐมวัยให้มีศักยภาพและป็นแรงงานทักษะสูงสามารถรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สศช.ระบุว่า ตลอดปี 60 การจ้างงานลดลง 0.6% จากปี 59 เป็นการลดลงของการจ้างงานนอกภาคเกษตร 1.0% เนื่องจากภาพรวมการส่งออกที่ขยายตัวช้าในช่วงครึ่งแรกของปี และแม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อการขยายการจ้างงานในสาขาการผลิตมากนัก ประกอบกับการปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เช่น การขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาการโรงแรม ภัตตาคาร เป็นผลจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี และรูปแบบการค้าในลักษณะออนไลน์ที่ขยายตัวเร็วส่งผลต่อเนื่องให้การขนส่งสินค้ามีมากขึ้น

สำหรับภาคเกษตรตลอดทั้งปีขยายตัว 0.3% เทียบกับการลดลง 4.3% ในปี 59 อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.2% ค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.1% ส่วนผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 4.6% โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ 5.9% และ 5.6% ตามลำดับ

ด้านหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น พิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลง และการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ลดลง

นายปรเมธี กล่าวถึงประเด็นเฝ้าระวังและที่ต้องดำเนินการในปี 61 ว่า การจ้างงาน แนวโน้มตลาดแรงงานที่มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทดแทนในกระบวนการผลิตมากขึ้น งานบริการที่มีกระบวนการทำงานซ้ำ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทน ขณะที่มีรูปแบบการทำงานใหม่และหลากหลายอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะการทำอาชีพอิสระ การรับจ้างผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการอบรมพัฒนาฝีมือทักษะแรงงานและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

การคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการหลอกลวงหรือข้อพิพาทจากการซื้อสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ เช่น การซื้อขายออนไลน์ การซื้อขายผ่าน QR code และการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสร้างสกุลเงินดิจิทัล รวมทั้งการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวาง เช่น การพนันออนไลน์ สื่อลามก ยาเสพติด เป็นต้น

ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308–330 บาท หรือเฉลี่ย 315 บาททั่วประเทศ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.61 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรปี 60 พบว่า มีผู้ที่ได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศจำนวน 5.4 ล้านคน ผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนไม่เกิน 9 คน สถานประกอบการกลุ่มนี้จะมีค่าจ้างแรงงานเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูง ซึ่งยังคงต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจดังกล่าว รวมถึงมาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอมาตรการ และการติดตามการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำและการลงโทษสถานประกอบการและนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ