พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค.2561 ที่นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งจะมีผู้นำประเทศจากสมาชิกอาเซียนและเครือรัฐออสเตรเลีย รวมทั้งเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในระดับผู้นำระหว่างอาเซียนกับเครือรัฐออสเตรเลียนอกภูมิภาคอาเซียน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะประชุมภายใต้หัวข้อการเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งในภูมิภาคที่จะเน้นข้อเสนอแนะที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ 1.ความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย 2.หุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 3.ความร่วมมือด้านการต่อต้านก่อการร้าย และ4.ประเด็นทางยุทธศาสร์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ทั้งนี้ หลังการประชุมจะมีการรับรองเอกสารที่เกี่ยวกับการประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญาซิดนีย์ ซึ่งเป็นเอกสารแสดงผลลัพธ์การประชุมที่จะแสดงเจตนารมย์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกและเครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมความร่วมือของประเทศในมิติของการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะผลักดันให้อาเซียนและเครือรัฐออสเตรเลียทำงานร่วมกันใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านความมั่นคงรวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่
ในด้านความมั่งคั่ง จะเน้นให้มีการเปิดเสรีทางการค้า ส่งเสริมการคาและการลงทุน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจของอาเซียนและออสเตรเลียและด้านประชาชนที่จะเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านโครงการความร่วมมือทางการศึกษา การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติและการรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ส่วนเอกสารฉบับที่ 2 ได้แก่ ร่างบันทึกความเข้าใจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกรอบการทำงานในการเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานการดำเนินการระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย สำหรับขอบเขต ยกตัวอย่างเช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวกรอง ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่แต่ละฝ่ายมีขีดความสามารถ มีการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การช่วยเหลือทางเทคนิค รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การก่อการร้าย ซึ่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนาม โดยกระทรวงต่างประเทศได้แจ้งว่าร่างปฏิญญาซิดนีย์และร่างบันทึกความเข้าใจนี้ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่จะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ