รมว.ดีอี หนุนกรมอุตุฯ ใช้ Big Data บริหารข้อมูลพยากรณ์อากาศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดความสูญเสีย

ข่าวทั่วไป Monday March 19, 2018 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาย.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งเป็นวันอุตุนิยมวิทยาโลก กรมอุตุนิยมวิทยาจะจัดงานสัมมนาวิชาการซึ่งภายในงานจะมีการจัดสัมมนาวิชาการ และการเสวนาใน 2 เรื่อง คือ เรื่อง "Weather-Ready, Climate-Smart, Water-Wise ยุค 4.0" และเรื่อง "ฉลาดเท่าทันภูมิอากาศ : Climate-Smart" เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้ ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลและผลผลิตด้านอุตุนิยมวิทยาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเข้าใจสภาวะอากาศมากขึ้น ลดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสังคมยุค 4.0 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข ผสมผสานกับข้อมูลการตรวจอากาศ ข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และเรดาร์ตรวจอากาศ เพื่อให้ได้ผลการพยากรณ์อากาศที่มีรายละเอียดสูงในระดับตำบลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งการมีเครื่องมือสื่อสารการพยากรณ์อากาศที่ชัดเจนในหลายช่องทาง ทั้งทางสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัยเข้ากับยุค "ไทยแลนด์ 4.0" นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังได้นำเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล เพื่อพัฒนาผลผลิตและตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนให้มีข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด อาทิ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และพลังงาน เป็นต้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความมั่นคง และความปลอดภัยในอนาคต

"หากมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า การคาดการณ์สภาวะอากาศรุนแรงที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ การออกการคาดการณ์พร้อมคำเตือน อย่างสม่ำเสมอและเชื่อถือได้เกี่ยวกับสภาพอากาศ จะลดความสูญเสียและผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้"

สำหรับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบัน ได้นำกรอบ SIGMA มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดย S : Safety & Security หมายถึง การคำนวณสภาวะอากาศ เพื่อความปลอดภัย และการบริหารจัดการล่วงหน้าสำหรับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ความปลอดภัยด้านการบิน การบริหารจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ และแผ่นดินไหว เป็นต้น I : Digital Infrastructure คือ การสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมทางอุตุนิยมวิทยา การสร้าง DATA Center ด้านอุตุนิยมวิทยา และการใช้ HPC (High Performance Computing) หรือ การประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยในการพยากรณ์อากาศ G : Digital Government การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้ในการตัดสินใจ M : Digital Manpower การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และ A : API & Application การสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อบริการข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ