"หมอจุฬาฯ"เปิดข้อมูลพบเชื้อหวัดนกในไทยอีกครั้งตั้งแต่ปีก่อนแต่ไร้การเตือนจริงจัง,อีกด้านปศุสัตว์ยังยันไม่มีแพร่ระบาด

ข่าวทั่วไป Monday March 26, 2018 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสจากสัตว์สู่คน, กรรมการโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ. และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ได้รับทราบว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค.60 มีสัตว์ในสวนสัตว์นครราชสีมาป่วยตาย ประกอบด้วย อีเห็นธรรมดา ชะมดเช็ด อีเห็นหูด่าง พังพอนกินปู เสือปลา และเสือกระต่าย 19 ตัว โดยหลังส่งซากสัตว์ที่ตายไปตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ทั้งหมด 6 ตัว ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องที่สัมผัสโรคอีก 32 รายไม่พบการติดเชื้อ

หลังจากนั้นมีการแพร่ระบาดเชื้อออกไปนอกสวนสัตว์อีกหลายพื้นที่ โดยไม่มีการประกาศพื้นที่เสี่ยงให้ประชาชนรับทราบ ทำให้มีคนนำซากสัตว์ที่ป่วยตายนำมาชำแหละกิน และเมื่อเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกจริง แต่ออกข่าวว่าไก่ป่วยเป็นอหิวาต์ตาย โดยไม่มีการแจ้งข้อมูลไข้หวัดนกไปยังโรงพยาบาลให้เฝ้าระวังกรณีพบผู้ป่วยเป็นไข้หวัด

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้นำเข้าสู่การประชุมลับของคณะกรรมการโรคติดต่อ ซึ่งผู้แทนกรมปศุสัตว์นำแผนที่มาเปิดเผยว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งมีหลายสิบจังหวัดแต่สามารถควบคุมได้

ต่อมาวันที่ 15 พ.ย.60 ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ขอให้ทางกรมปศุสัตว์มีหนังสือแจ้งเตือนทั่วไปมีแนวโน้มที่มีเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกได้ จนผ่านไป 2 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้า ตนเองจึงนำเรื่องไปปรึกษาในคณะกรรมการปฏิรูปฯ หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้แจ้งเตือนไปยังสถานพยาบาลในสังกัด

"เป็นการแจ้งเตือนตามปกติ แต่ความเข้มข้นมันต่างกัน ระหว่างไม่เคยเจอมาสิบปี กับเฝ้าระวัง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเตือนไข้หวัดนกเป็นระยะ ประเทศนี้เป็นสีขาวมา 10 ปี ถ้ามีคนไข้เพียงคนเดียวที่ติดเชื้อหวัดนก จะตายหรือไม่ตายก็ไม่เป็นไร ทั่วโลกจะถามว่าเป็นพื้นที่สีขาวแล้วคนติดได้อย่างไร ถ้าไม่ติดมาจากสัตว์" นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ขณะที่กรมปศุสัตว์ออกมายืนยันว่าไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย ส่วนที่พบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ปีกนั้น ถือเป็นพัฒนาการของเชื้อโรคที่ข้ามขั้นตอนจากการที่สัตว์เหล่านี้ไปกินสัตว์ปีกที่มีเชื้อโรคดังกล่าว และหากปล่อยทิ้งไว้ก็มีโอกาสที่เชื้อโรคจะพัฒนาความรุนแรงให้แพร่ระบาดจากคนไปสู่คนได้

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ยืนยันสถานการณ์โรคไข้หวัดนกยังอยู่ในภาวะปลอดเชื้อ ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าว ขณะที่ยังคงมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และจะเพิ่มมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้นหากพบพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว

"สถานการณ์ยังปลอดเชื้อตามปกติ ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกตามที่มีข่าว เรามีคณะทำงานประสานกับทางกรมปศุสัตว์ตลอดเวลา ยังไม่มีการแจ้งเตือนแต่อย่างใด" นพ.วิชาญ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ