พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย โดยในประเด็นแรก คือ แนวทางที่จะพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ปัญหา IUU และประเด็นที่สองคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติที่ว่าด้วยการประมงที่ปลอดจาก IUU
"การประชุมที่ประเทศเบลเยี่ยมเมื่อปลายปี 60 ได้มีการหารือกับผู้แทนของสหภาพยุโรป ซึ่งอยากให้ประเทศไทยแสดงเจตนารมย์ที่จะทำให้ประเทศปลอดจากสัตว์น้ำหรือสินค้าประทงที่ผิดกฎหมายอย่างแท้จริง โดยถ้าไทยแสดงเจตนารมย์ สหภาพยุโรปจะช่วยสนับสนุนและร่วมพัฒนามาตรการต่างๆให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ประเทศไทยต้องการ"
ทั้งนี้ หลังจากกลับมาจากการประชุมร่วมกับสหภาพยุโรป ทางคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเมื่อปลายเดือนม.ค.61 ซึ่งมี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และได้บทสรุปว่าเราจะกำหนดประเด็นหรือแนวทางหลักที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยปลอดจากการพัฒนาให้ประเทศไทยปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรือ คนงานบนเรือ เครื่องมือการทำประมง พื้นที่การทำประมง ทั้ง 4 เรื่องนี้ต้องถูกกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติอีก 2 ประการ คือ ถ้าเรือที่เป็นเรือไทย ไม่ว่าจะจดทะเบียนในประเทศไทย ติดธงชาติไทย การปฏิบัติเวลานำสัตว์น้ำที่จับได้มาขึ้นที่ท่าเรือจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ อย่างรอบคอบและครบถ้วนตามมาตรการที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรายงานการเข้าออกต่อระบบการติดตามเรือประมง การควบคุมการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า การจำกัดจำนวนใบอนุญาตการทำประมง ทุกอย่างต้องครบถ้วน ซึ่งในกรณีนี้เราควบคุมได้ง่าย เพราะมีกฎหมายที่ใช้ควบคุม ทั้งกฎหมายแรงงานประมง กฎหมายเรือประมง เรื่องระยะห่างจากชายฝั่ง เรื่องจำนวนห้วงเวลาที่ทำประมง
ส่วนกรณีสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีข้อปฏิบัติว่ารัฐที่เป็นเจ้าของท่าจะต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน รัฐที่เป็นเจ้าของเรือมีส่วนในการบังคับเรือที่มีสัญชาตินั้นๆ ปฏิบัติตามกฎกติกาของเจ้าของท่า
ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี สรุปว่าประเทศไทยมีความมั่นใจว่า การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายค่อนข้างชัดเจน รัดกุม ทุกภาคมีการประสานงานกัน แต่ยังมีความกังวลในส่วนของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงกำหนดให้มีแผนงานเพื่อจะออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย เพื่อให้เรือต่างประเทศปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำกับบางประเทศแล้ว 2-3 ประเทศ แต่ยังไม่กว้างขวาง นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งว่าเราจะยกระดับการทำประมงในประเทศไทยให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่งไม่ใช่แค่การระมัดระวังภายในประเทศไทยไม่ให้มีการทำประมงผิดฏฎหมายเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศที่จะนำสินค้าประมงและสัตว์น้ำมาขึ้นที่ท่าเรือไทยด้วย ซึ่งจะมีการออกใบรับรอง หรือ Certificate ให้กับทุกประเทศ โดยจะทำใบรับรองดังกล่าวส่งไปที่ WTO ถ้า WTO ให้ความเห็นชอบก็จะเสนอใบนี้ไปยังประเทศต่างๆที่มีส่วนดูแลการทำประมงของประเทศนั้นๆ ถ้าตอบรับมาก็จะเป็นภาคีเครือข่าย
การทำลักษณะนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะตัวเรา มีกฎกติกาหากคนอื่นจะมาค้าขายสัตว์น้ำกับเราก็จะต้องสนับสนุนมาตรการในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายด้วย ซึ่งการจะดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เดิมเรามีคณะกรรมการอยู่ 2 ชุด คือคณะกรรมการนโยบายปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกหมาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีภารกิจกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ในภาพรวม และมีหน่วยงานย่อยคือ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งนำนโยบายมาแปลงเป็นแผนการปฏิบัติการ และกำกับดูแลประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ยังไม่มีคณะใดที่ทำหน้าที่เฉพาะในการติดตามใบรับรองที่จะออก ต้องติดต่อประสานงานกับ WTO เพระฉะนั้นเพื่อให้งานนี้เป็นรูปธรรม
"จึงเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายและขาดการรายงานไร้การควบคุม โดยมีรองนายกฯฉัตรชัยเป็นประธาน และมีอธิบดีกรมประมงเป็นเลขา ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบทั้ง 2 กรณีที่เสนอมา"