กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ"พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-7 เมษายน 2561)" ฉบับที่ 8 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 5-6 เมษายน 2561 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า กับมีลูกเห็บตกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่
ส่วนในวันที่ 7 เมษายน 2561 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจะมีฝนลดลง ส่วนด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนฟ้าคะนองได้ต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น
จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบตามพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
ในวันที่ 5 เมษายน 2561 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และชัยภูมิ, ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก และปราจีนบุรี, ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
ในวันที่ 6 เมษายน 2561 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี, ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ในวันที่ 7 เมษายน 2561 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคกลาง: จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมถึงประเทศจีนตอนกลาง คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 5-7 เมษายน 2561 ประกอบกับคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับในช่วงวันที่ 7-9 เมษายน 2561 ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 2 - 5 เมษายน 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 9 จังหวัด 14 อำเภอ 20 ตำบล 29 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 194 หลัง แยกเป็น ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา เกิดวาตภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมสารคาม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะกง และอำเภอท่าตะเกียบ รวม 7 ตำบล 8 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 57 หลัง ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 50 หลัง ลำปาง เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภองาว และอำเภอวังเหนือ รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 28 หลัง แพร่ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอร้องกวาง รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4 หลัง เชียงราย เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอพาน รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3 หลัง
เพชรบูรณ์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 23 หลัง น่าน เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอปัว รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 8 หลัง ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอนาเดิม รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หลัง ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสรรพยา และอำเภอเมืองชัยนาท รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 11 หลัง