นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในไตรมาสแรกของปี 61 ยังคงเติบโตได้ดีมีมูลค่าคงค้างรวม 11.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จาก 11.56 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
ส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนเริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของตลาดก่อนเกณฑ์ใหม่การออกตั๋ว B/E และหุ้นกู้ โดยผู้ออกที่มีอันดับเครดิตสูงใน Real sector เร่งการออกหุ้นกู้และเน้นขายให้กลุ่มนักลงทุน ll/HNW เป็นหลักในอนาคตจะถูกกำหนดให้ต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นหู้หากเสนอขายให้ HNW ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะยาวสูงสุดคือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยมียอดการออกเพิ่มขึ้น 110% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านตราสารหนี้ระยะสั้น ในภาพรวมยังมีการออกเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าการออกจาก Real sector ปรับลดลง 18% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ลดลงจากผู้ออกกลุ่ม Non-rated ซึ่งยังคงเน้นเสนอขายกลุ่มนักลงทุน II/HNW กลุ่มธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะสั้นสูงสุดคือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์(Finance & Securities) มียอดการออกเพิ่ม 46% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/61 มีมูลค่าซื้อสุทธิเพิ่มขึ้น 3.87 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 5.25 หมื่นล้านบาท และมีการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1.39 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 8.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7.4% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย ในขณะเดียวกันเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันมากขึ้น โดยรุ่นอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับตัวลดลง 2-13 bps. ส่วนรุ่นอายุ 6-10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 2-10 bps.
สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปี 61 นี้ ค่อนข้างมั่นใจว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะคงที่ที่ 1.5% จนถึงช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เงินเฟ้อของไทยมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี มีทิศทางขาขึ้นในกรอบที่จำกัดตามภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ขยายตัวดีขึ้น ถึงกระนั้นก็ดีนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐในแต่ละช่วงเวลาอาจทำให้เกิดความผันผวนที่รุนแรงในผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
นายธาดา กล่าวว่า ปีนี้เอกชนน่าจะมีการออกหุ้นกู้ราว 6-6.5 แสนล้านบาท จากระดับ 8.3 แสนล้านบาทในปีก่อน โดยยังไม่รวมกับเอกชนรายใหญ่ที่อาจจะมีการเข้าซื้อกิจการ หรือดีลใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเบื้องต้นจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/61 บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ออกหุ้นกู้ราว 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ 3 เดือนแรกของปีนี้ ภาคเอกชนออกหุ้นกู้ไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อน ขณะที่ช่วงเดือน เม.ย.คาดว่าบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) จะออกหุ้นกู้อีก 2.5 หมื่นล้านบาท
"การที่เอกชนหันมาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้น เพราะดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำหลายรายล็อคดอกเบี้ยไว้เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี และบางรายออกตั๋วแลกเงิน และ หุ้นกู้ ก่อนที่เกณฑ์ของคณะกรรมมกรารกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนนี้ ที่กำหนดว่าเอกชนไม่สามารถขาย B/E ให้นักลงทุนรายใหญ่และสถาบันได้ ทำให้การออกตั๋ว B/E ในครึ่งปีแรกจะมากกว่าครึ่งปีหลัง"นายธาดา กล่าว
ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างชาติยังไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง หลังไตรมาส 1/61 มีการซื้อสุทธิเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการที่ไทยยังมีเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ขณะที่เงินเฟ้อของไทยยังต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย 10 ปี มีอัตราที่ต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐเป็นครั้งแรก โดยของไทยอยู่ที่ 2.56% ของสหรัฐ 2.74%