นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โรคท้องร่วง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่ต้นปี 2561 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทั่วประเทศ 35,484 ราย และโรคอุจจาระร่วง 377,127 ราย เสียชีวิต 1 ราย
สำหรับการป้องกันโรคที่มากับน้ำและอาหารให้ยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงเมนูอาหารเสียง่าย เช่น ลาบ ก้อยดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง ยำทะเล ข้าวผัดโรยเนื้อปู อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน สังเกตอาหารก่อนรับประทาน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทาน และเก็บอาหารไว้ในตู้เย็น เพื่อชะลอการเติบโตเชื้อโรค หากเป็นอาหารข้ามมื้อต้องอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน หากซื้ออาหารกล่อง ขอให้ซื้อจากร้านที่สะอาด ผ่านมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย
ทั้งนี้ โรคอาหารเป็นพิษมักพบหลังจากที่กินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2-4 ชั่วโมง โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด การดูแลเมื่อมีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ผสมน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและผู้สูงอายุอาจมีอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที