กรมป้องกันฯรายงานมี 4 จังหวัดได้รับผลกระทบจากวาตภัย พร้อมรับมือพายุฤดูร้อนช่วง 15–18 เม.ย.

ข่าวทั่วไป Sunday April 15, 2018 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 13 - 15 เมษายน 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 4 จังหวัด 8 อำเภอ 15 ตำบล 40 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 192 หลัง แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองเลย รวม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 117 หลัง นครราชสีมา เกิดวาตภัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจักราช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอโนนสูง และอำเภอประทาย รวม 7 ตำบล 12 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 54 หลัง สุรินทร์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอจอมพระ รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 17 หลัง ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอดงเจริญ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4 หลัง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 15 - 18 เมษายน 2561 จะเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้

อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ