นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย และภาคีเครือข่าย ดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อเป็นทางรอดทางเดียวของผู้ป่วยโรคหัวใจ ตับ ปอดวายระยะสุดท้าย แก้ปัญหาความพิการของดวงตา โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไต ที่สามารถช่วยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้มีอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตต่ำกว่าการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ในปี 2560 สามารถช่วยผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับการปลูกถ่ายเพิ่มขึ้นจาก 512 รายในปี 2559 เป็น 670 ราย เพิ่มการปลูกถ่ายไตจาก 414 รายในปี 2559 เป็น 543 ราย และปลูกถ่ายกระจกตาได้ 1,082 ดวงตา ยังคงมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ 5,851 ราย และรอรับการปลูกถ่ายกระจกตาอีก 12,042 ราย
ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งขยายศูนย์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ขณะนี้ดำเนินการแล้วในโรงพยาบาลศูนย์ร้อยละ 87 โรงพยาบาลทั่วไปร้อยละ 54 และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 7 แห่ง พร้อมทั้งจะพัฒนาทีมผ่าตัดนำอวัยวะออก ในส่วนภูมิภาค (Regional Harvesting Team) ให้ได้เขตสุขภาพละ 1 ทีม โดยได้อบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้ว 11 เขต พัฒนาศูนย์ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant Center) 1 แห่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 จัดอบรมพยาบาลผู้ประสานงานการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ทุกเขตสุขภาพ และอบรมเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะ 4 ภาค
"สิ่งสำคัญคือ การรณรงค์ประชาชนให้สนใจที่จะบริจาคอวัยวะและดวงตาเพิ่มมากขึ้น ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2561 ให้มีจำนวนผู้ยินยอมบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายเป็น 0.4 ต่อ 100 จำนวนผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล และผู้ยินยอมบริจาคดวงตาจากผู้ป่วยสมองตาย 1.2 ต่อ 100 จำนวนผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล และจะให้เพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก" นพ.มรุตกล่าว