คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติรับทราบอุทยานธรณีสตูลได้รับการรับรองจากยูเนสโกเป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geoparks) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
1.อุทยานธรณีสตูลได้รับการพิจารณารับรองการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) แล้ว ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 204 (204th Session of the Executive Board) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ทั้งนี้ อุทยานธรณีโลกเมื่อได้รับการจัดตั้งแล้วจะมีสถานะเป็นอุทยานธรณีโลก ภายในระยะเวลา 4 ปี หลังจากนั้น จะต้องได้รับการประเมินอุทยานธรณีโลกใหม่อีกครั้ง (Revalidation) เพื่อให้รักษาคุณสมบัติและคุณภาพของอุทยานธรณีโลก โดยยูเนสโกจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการประเมินใหม่อีกครั้ง หากผลการประเมินผ่านเกณฑ์ [ประกอบด้วย หัวข้อธรณีวิทยาและภูมิประเทศ (ขอบเขตอุทยานธรณีการอนุรักษ์ทางธรณีวิทยามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม) โครงสร้างการบริหารจัดการการสื่อสาร และการให้ความรู้การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างยั่งยืน] จะได้รับการต่ออายุเป็นอุทยานธรณีโลกอีก 4 ปี แต่หากไม่ผ่านการประเมินหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการบริหารอุทยานธรณีโลกต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามขั้นตอนและข้อเสนอแนะของยูเนสโกให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในกำหนดได้ จะถูกถอดถอนจากการเป็นอุทยานธรณีโลก
2.ทส. และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะร่วมกันดำเนินการสร้างกลไกการบริหารจัดการอุทยานธรณีโลกของประเทศเพื่อให้ระบบการบริหารจัดการอุทยานธรณีโลกในประเทศเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก และเพื่อรองรับการนำเสนออุทยานธรณีโลกในบริเวณอื่น ๆ ของไทยต่อไป
3.ทส. โดยกรมทรัพยากรธรณีจะประสานหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย ศธ. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดสตูล และอุทยานธรณีโลกยูเนสโกสตูลพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตของสมาชิกสภาอุทยานธรณีโลกต่อการพัฒนาอุทยานธรณี ดังนี้
3.1 ดำเนินการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น แหล่งซากดึกดำบรรพ์ เขาน้อย และต่อยอดองค์ความรู้ด้านธรณีวิทยาโดยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
3.2 เร่งรัดการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลและสิ่งก่อสร้างบริเวณแนวชายฝั่งที่ได้รับการกัดเซาะโดยธรรมชาติอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแนวสะพานที่เป็นเส้นทางท่องเที่ยวธรณีวิทยาบริเวณเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย
3.3 สร้างความเข้มแข็งและพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่อุทยานธรณีให้ดำเนินการตามกรอบแนวคิดของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก
3.4 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายอุทยานธรณีโลกทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งขยายความร่วมมือกับอุทยานธรณีโลกแห่งอื่น ๆ และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นอุทยานธรณีโลกข้ามพรมแดน (Transnational UNESCO Global Geoparks) ร่วมกับอุทยานธรณีโลกยูเนสโกลังกาวีในอนาคต
3.5 ส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลก และส่งเสริมความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเชื่อมโยงกับบริบทของอุทยานธรณีโลก เปิดโอกาสการค้าและเพิ่มช่องทางของสินค้าท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้กรณีศึกษาของปันหยาบาติกและทุ่งหว้าโฮมสเตย์
3.6 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา พัฒนาระบบการขนส่งและสาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาผ่านองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวหลักของประเทศ สร้างจุดดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวโดยการเชื่อมโยงเรื่องเล่า เรื่องราวกับมรดกทางธรรมชาติเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักในมรดกทางธรรมชาติและวัฒธรรม
3.7 ส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่อุทยานธรณี โดยพัฒนาหลักสูตรในทุกระดับความรู้ทาง วิทยาศาสตร์โลก ธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ และเกิดความตระหนักในความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณี และเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน รวมทั้งสร้างเครือข่ายครูจีโอพาร์ค
3.8 จัดทำแผนการดำเนินงาน 4 ปี ของอุทยานธรณีสตูลเพื่อใช้เป็นแนวทางในกาดำเนินงานเพื่อพัฒนามาตรฐานของอุทยานธรณีสตูลและเตรียมรองรับการประเมินใน 4 ปีข้างหน้า