นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนประชาชนจะต้องระวังการถูกสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องกัด ซึ่งในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักจะมีอุบัติเหตุจากการถูกสัตว์และแมลงมีพิษกัด ต่อย เพิ่มมากขึ้น กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนหมั่นสำรวจตามบริเวณตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า ฝ้าเช็ดเท้า ท่อต่างๆหรือตามขอบประตูของบ้าน เพราะอาจพบสัตว์มีพิษที่หนีฝนมาอาศัยหลบซ่อนอยู่ ข้อคำแนะนำในการลดความเสี่ยง คือ 1. จัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างอย่างเป็นระเบียบ สะอาดตาสอดส่องตามมุมอับของบ้านเป็นประจำ 2. สำรวจสิ่งแปลกปลอมก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง เพราะอาจมีตะขาบหรือแมงป่องไปอาศัยอยู่ หากพบเจอสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดี และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย
ในกรณีที่ถูกแมลงมีพิษกัดหรือต่อย ให้รีบล้างบริเวณแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆครั้ง ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน หากมีอาการปวดมากหรือมีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์ สำหรับกรณีถูกงูกัด ควรจดจำลักษณะของงูว่าเป็นงูชนิดใดเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด และไม่ควรขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นเนื้อตาย และห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยา แก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ให้นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและโดยเร็วที่สุด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ช่วงฝนตกเช่นนี้ ประชาชนที่ไม่สวมรองเท้าเดินลุยน้ำ ให้ระวังพยาธิสตรองจีลอยด์ (Strongyloides stercoralis) พยาธิตัวอ่อนจะไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ซึ่งเมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย และอีกโรคที่เกิดจากการเดินลุยน้ำหรือพื้นที่ชื้นแฉะ คือ โรคไข้ฉี่หนู ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้โดยสวมรองเท้าหรือนำถุงพลาสติกหุ้มเท้าทับปลายขากางเกงแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อไม่ให้หลุดจากร่างกาย หลังจากขึ้นจากน้ำขังแล้ว ควรล้างทำความสะอาดร่างกายทันทีเพื่อลดเชื้อโรคที่มากับน้ำ