นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการการผลิตและจัดทำปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยดำเนินการผ่านสถาบันการเกษตรว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญชวนสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกว่ามีปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยมากน้อยเพียงใด โดยให้สมาชิกเก็บตัวอย่างดินในไร่ นา หรือสวนของตนเอง เพื่อนำมาบริการตรวจดิน เพื่อหาธาตุอาหาร N-P-K รวมทั้ง คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่สหกรณ์ สหกรณ์จะให้บริการตรวจดิน (ข้าว ข้าวโพด ใช้ KU Soil Test Kit) และแนะนำการใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" ในกรณีข้าว และข้าวโพด โดยใช้ข้อมูลชุดดินร่วมกับค่าวิเคราะห์ดิน ส่วนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ใช้คำแนะนำปุ๋ย ตามค่าวิเคราะห์ดินจากกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับสมาชิกได้มากขึ้น และส่งผลทำให้พื้นที่เพาะปลูก มีธาตุอาหารที่สมบูรณ์ครบถ้วน ส่งผลต่อการปลูกพืชได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อ แยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็น สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร กำหนดวงเงินให้เป็นไปตามศักยภาพและความจำเป็นของตนเอง ส่วนอีกกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน กำหนดวงเงินแห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย โดยเรียกเก็บจากสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ในอัตรา MLR-3 ต่อปี หรือคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2% ปีเท่านั้น เพื่อให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนนำไปเป็นทุนหมุนเวียนจัดหาแม่ปุ๋ย เพื่อนำมาบริการผสมปุ๋ย หรือผลิต ให้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับสภาพดินแต่ละพื้นที่ของสมาชิก
ขณะที่ระยะเวลาของการดำเนินโครงการนั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 พร้อมกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้เป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส หรือราย 6 เดือน หรือรายปี โดยให้ชำระหนี้คืนเสร็จไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ สถาบันเกษตรกร จำนวน 500 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 300 แห่ง และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่งทั่วประเทศ
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นเกษตรกรอย่างมาก โดยสมาชิกของสหกรณ์ที่ร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์คือ สามารถลดต้นทุนในการผลิตต่อไร่ลง ไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อไร่และได้ปุ๋ยที่มีความเหมาะสมกับสภาพดิน ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและส่งผลต่อปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในวันที่ 5 มิถุนายน นี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะมีการประชาสัมพันธ์ และชี้แจงโครงการผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้รับทราบรายละเอียดของโครงการต่อไป