กรมควบคุมโรค คาดพบผู้ป่วยจากทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน พร้อมให้ระวังการนำเห็ดมารับประทาน

ข่าวทั่วไป Saturday June 2, 2018 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 - 26 พ.ค. 61 พบผู้ป่วยแล้ว 251 ราย จาก 33 จังหวัด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 55-64 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จากข้อมูลการเฝ้าระวังฯ ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม (ช่วงฤดูฝน) ได้รับรายงานผู้ที่รับประทานเห็ดพิษเป็นกลุ่มก้อนมากถึง 10 เหตุการณ์ (จากทั้งหมด 13 เหตุการณ์ในปี 2561) เฉพาะพฤษภาคมเดือนเดียวมีผู้ป่วยรวม 78 ราย กระจายทั่วทุกภาค และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญของเห็ดหลายชนิดโดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ เห็ดป่า มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ โดยมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ ประกอบกับความเข้าใจและความเชื่อในการลดพิษของเห็ดหรือวิธีทดสอบเห็ดพิษ ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ให้แน่ชัดได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ตามหลักทางวิทยาศาสตร์

การจำแนกเห็ดพิษไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ประชาชนจึงควรตระหนักและระมัดระวังในการนำเห็ดมารับประทาน อาการที่สังเกตได้หลังรับประทานเห็ดพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ภายใน 6–24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงจะทำให้เกิดภาวะไต/ตับวาย จนทำให้เสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หลังรับประทานเห็ด ควรรีบปฐมพยาบาลด้วยการทำให้อาเจียนออกมาให้มาก โดยรับประทานไข่ขาวดิบ 3-4 ฟอง หรือดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่านหรือเกลือแล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ห้ามล้างท้องโดยการสวนทวารโดยเด็ดขาด และสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้ประวัติการรับประทานอาหารย้อนหลัง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเห็ดและอาหารที่เหลือจากการรับประทานไว้ด้วย ทั้งนี้ ควรเลือกเห็ดที่จะรับประทานจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงเห็ดจากธรรมชาติ ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี โทร.1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ