น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ในมาตรา 4 ได้เขียนคำนิยามงานก่อสร้างไว้แบบกว้างเท่านั้น โดยไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนมากนัก ทางคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงได้มีหนังสือเวียน ว112 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 เพื่อซ้อมความเข้าใจนิยามความหมายของงานก่อสร้าง ในกรณีการดำเนินการ "การซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติม รื้อถอน" ซึ่งอาจจะเป็นงานก่อสร้างหรือไม่เป็นงานก่อสร้างก็ได้
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การออกหนังสือเวียน ว112 ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอธิบายลักษณะของงานของการซ่อมแซมฯ ว่าแบบใดที่เป็นงานก่อสร้าง หรือไม่ใช่งานก่อสร้าง ซึ่งหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวได้กำหนดกรณีการซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติม รื้อถอน ให้ถือเป็นงานก่อสร้าง จำเป็นต้องมีแบบรูปรายการงานก่อสร้างที่ผ่านการรับรองจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำให้หน่วยงานของรัฐเกิดความไม่ชัดเจน จึงได้ซ้อมความเข้าใจด้วยการออกหนังสือเวียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว259 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2561 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน โดยกำหนดแนวทางการพิจารณาไว้ ดังนี้
กรณีที่ 1 หากการดำเนินการดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก หรือไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือไม่มีความจำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาดำเนินการ หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างในลักษณะอื่นที่มิใช่งานก่อสร้างได้
กรณีที่ 2 หากการดำเนินการดังกล่าว มีผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือมีความจำเป็นจะต้องมีการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาดำเนินการ หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการจัดจ้างในลักษณะงานก่อสร้าง
ดังนั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐพิจารณาได้ว่า การซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติม รื้อถอน ดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างหรือไม่ใช่งานก่อสร้าง หน่วยงานของรัฐก็จะสามารถไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้องต่อไป