พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระหว่าง กทม. กับ 5 จังหวัดปริมณฑล (นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กอ.รมน.กทม.(ฝ่ายทหาร) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองบังคับการตำรวจจราจร ว่า เพื่อเป็นการเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2561 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่าฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้จะเริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.61 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
ในส่วนของ กทม.ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.และพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล โดยเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้ 1.ทำความสะอาดท่อระบายน้ำในถนน ตรอก ซอย ความยาวรวม 3,297 กิโลเมตร ดำเนินการโดยใช้แรงงานของสำนักระบายน้ำและสำนักงานเขต และจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.61 2.เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืชใน คู คลอง ยาว 1,341 กิโลเมตร ขุดลอกคู คลอง 80 คลอง ยาว 100 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มิ.ย.61 3.เตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ จำนวน 698 แห่ง กำลังสูบรวม 2,229 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสถานีสูบน้ำมีขีดความสามารถในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 903 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 4. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวังมีขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และติดตั้งเรือผลักดันน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองจำนวน 60 ลำ 5.เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
6.ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิงจำนวน 26 แห่ง เพื่อชะลอน้ำท่วมปริมาณ 13.07 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเก็บกักในแก้มลิงเป็นการชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ 7.จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ กรณีฉุกเฉิน และเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยเตรียมกระสอบทราย 2.79 ล้านใบ รวมทั้งรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 18 คัน 8.จัดเตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST รวม 108 หน่วย เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรวม 700 คน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเร่งด่วน นอกจากนี้ยังจัดหน่วยบริการฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเนื่องจากน้ำท่วมขังประจำทุกสำนักงานเขต 9.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และสื่อมวลชน รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำชำรุด อุดตัน และ ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมขังตลอด 24 ชั่วโมง โดยประชาสัมพันธ์สถานการณ์สภาพฝนและบริเวณที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังผ่านสื่อต่างๆ เช่น ป้ายจราจรอัจฉริยะ จ.ส.100 รายการร่วมด้วยช่วยกัน และผ่านทางสื่อออนไลน์
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หากมีสถานการณ์ฝนตกหนักและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.มีแผนปฏิบัติการ 9 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์ 2.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้ง เครื่องสูบน้ำตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม 3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ 4.แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย "อัมรินทร์" แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line "เตือนภัยน้ำท่วม กทม." (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน) 5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญ เพื่อเร่งระบายน้ำและแก้ปัญหาด้านการการจราจร 6.หน่วยงานภาคสนาม (ผู้บริหาร สนน./หน.หน่วยฯ) ลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมทราบ 7.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 8.ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม / ทหาร ช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ เป็นต้น 9.ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียล
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล กทม.ได้ประสานการดำเนินการร่วมกันกับจังหวัดปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน 4 จุดหลัก โดยจุดแรก คือ ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าเซียร์รังสิตถึงบริเวณแยกลำลูกกา เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปทุมธานี สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการปรับปรุงท่อระบายน้ำในถนนพหลโยธิน พร้อมบ่อสูบน้ำ 3 แห่ง รวมขนาด 16 ลบ.ม./วินาที แล้วเสร็จแล้ว กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่คลองคู่ขนาน ถนนพหลโยธิน คลองหนึ่งฝั่งใต้ และคลองสองฝั่งใต้ กำลังสูบรวม 36 ลบ.ม./วินาที กรมทางหลวง ดำเนินการเสริมผิวจราจร บริเวณอนุสรณ์สถานเชื่อมถนน วิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน และก่อสร้างท่อระบายน้ำ ถนนลำลูกกา และบ่อสูบน้ำ จำนวน 4 แห่ง กำลังสูบรวม 9 ลบ.ม./วินาที เทศบาลเมืองคูคต ดำเนินการปรับปรุงบ่อสูบน้ำคลองลาดสนุ่นเป็น 6 ลบ.ม./วินาที และกองทัพอากาศ ดำเนินการปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่สนามกีฬาธูปะเตมีย์
จุดที่ 2 ปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงศูนย์ราชการ พื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนนทบุรี สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการปรับปรุงบ่อสูบน้ำศูนย์ราชการ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม 10 ลบ.ม./วินาที ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำแก้มลิง ที่ ร.2 พัน 1 รอ.กองพันทหารเสือ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การประปานครหลวง ดำเนินการพร่องน้ำในคูน้ำของการประปาเพื่อรับน้ำจาก ร.2 พัน 1 รอ. กรมทางหลวง ดำเนินการปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำและช่องรับน้ำฝนในถนนแจ้งวัฒนะ
จุดที่ 3 ปัญหาน้ำท่วมถนนงามวงศ์วานบริเวณซอยชินเขต 2 ถึงคลองประปาและหมู่บ้าน ชินเขต พื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนนทบุรี สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อสูบน้ำ 2 บ่อ กำลังสูบรวม 6 ลบ.ม/วินาที ที่ถนนงามวงศ์วานตอนลง คลองบางเขน (ขาเข้า) และในซอยหมู่บ้านชินเขต 1 แล้วเสร็จ และก่อสร้างท่อระบายน้ำซอยงามวงศ์วาน 47 พร้อมบ่อสูบ 3.50 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่คลองบางเขน สำนักงานเขตหลักสี่จะขุดลอกคลองบางตลาด ลาดโตนด บางเขน สำนักการโยธา ดำเนินการเสริมผิวจราจรถนนงามวงศ์วาน
และจุดที่ 4 ปัญหาน้ำท่วมถนนสุขุมวิทบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง ซอยลาซาล และซอยแบริ่ง พื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรปราการ สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา อยู่ระหว่างดำเนินการ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดรวม 2 ลบ.ม./วินาที ถนนสุขุมวิทขาออก ช่วงสนามกีฬาภูติอนันต์ถึงสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง ติดตั้งแล้วเสร็จ และกรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนสุขมวิทและสถานีสูบน้ำที่คลองสำโรงและคลองบางนา พร้อมติดตั้ง เครื่องสูบน้ำขนาด 1 ลบ.ม./วินาที ที่ถนนสุขุมวิทขาออกตอนลงคลองสำโรง