น.สพ.สรวิศ ธานีโต รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่วางแผนและขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน กำหนดรูปแบบการปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ทั้งการลักลอบใช้การนำเข้าเคมีภัณฑ์ การผสมสารดังกล่าวในอาหารสัตว์ที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่ฟาร์มสุกร และที่ฟาร์มโคขุน ตลอดจนการตรวจสอบที่โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ เพื่อให้เนื้อสัตว์ของไทยปลอดจากสารเร่งเนื้อแดงอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย (Food Safety) สู่ผู้บริโภค
"หลังจากนี้การปราบปรามสารเร่งเนื้อแดง จะดำเนินการอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น หากมีการกระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ หรือฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ มีโทษหนักทั้งจำคุก หรือปรับเงินในอัตราสูง หรือทั้งจำทั้งปรับ ขอเตือนผู้ที่ยังทำผิดอยู่ขอให้หยุดการกระทำในทันที" น.สพ.สรวิศ กล่าว
ด้านน.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า จากการประชุมวางแผนการดำเนินการของคณะกรรมการฯมีข้อสรุปว่า จากนี้เป็นต้นไปจะเริ่มปฏิบัติการปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงที่โรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ โดยจะใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าและเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งคณะทำงานปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดง เพื่อวางแผนปราบปราม รับแจ้งเหตุหรือเบาะแส ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ หากคณะทำงานฯ เข้าตรวจสอบในโรงฆ่าสัตว์แล้วพบการกระทำความผิด ฝ่าฝืนนำสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเข้าฆ่า หรือลักลอบนำสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงออกจากโรงฆ่าสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานตรวจโรคสัตว์ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผู้ใดผลิต-นำเข้า-ขาย หรือใช้อาหารสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามบทลงโทษของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
ปัจจุบันมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดน้อยลงอย่างมาก จากเมื่อปี 2557 พบสารเร่งเนื้อแดงในปัสสาวะสุกร 3.5% ขณะที่ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบ 0.7%