นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาโครงการจัดจ้างเพื่อซ่อมรถโดยสารเก่าจำนวน 323 คัน คาดว่าจะหาเอกชนมาซ่อมได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ โดยรถเก่าที่จะซ่อมเป็นรถเมล์ NGV ฮีโน่ ซึ่งตัวรถเป็นเหล็กยังแข็งแรงดี แต่ต้องปรับปรุงเบาะรถ แอร์ และตัวถังรถ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อไป ซึ่งโครงการนี้เป็นแผนส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนรถโดยสารให้เพียงพอต่อการบริการ เพราะปัจจุบันมีรถเมล์เสียประมาณ 290 คัน/วัน จากจำนวนที่มีทั้งหมด 2,600 คัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุการใช้งาน 26-30 ปี
นอกจากนี้ตามแผนฟื้นฟู ขสมก.จะจัดหารถอื่นเพิ่มเติมด้วย ได้แก่ รถเมล์ดีเซล ไฮบริด เป็นต้น ทั้งนี้การจัดซื้อรถเมล์ใหม่จะส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงด้วย โดยปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายซ่อมรถ 1,600 บาท/วัน/คัน แต่หากมีรถเมล์รุ่นใหม่หรือรถเมล์ NGV เข้ามาจะช่วยลดค่าซ่อมลงเหลือ 900 บาท/วัน/คัน และยังประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ด้วย ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายหลักส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายพนักงานที่มีกว่า 5 พันคน ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋ารถ รองลงมาเป็นค่าซ่อมรถ และค่าเชื้อเพลิง
ขณะที่ ขสมก.ยังไม่สามารถรับมอบรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน จากคู่สัญญาคือกลุ่มร่วมทุน บมจ.ช.ทวี (CHO) และ บมจ.สแกนอินเตอร์ (SCN) หลังจากมีคำสั่งศาลปกครองกลางให้ทุเลาการบังคับใช้มติคณะกรรมการ ขสมก.ครั้งที่ 15/2560 อนุมัติผลประมูลที่ให้กลุ่ม CHO-SCN นั้น ทำให้บริษัทต้องรอศาลปกครองนัดไต่สวนหลังจากได้ทำหนังสืออุทธรณ์แล้ว และรอคำสั่งศาลออกมาก่อน หากยกเลิกการทุเลาก็จะรับมอบรถได้ อย่างไรก็ตามในส่วนรถเมล์เอ็นจีวีที่รับมอบมา 100 คันเมื่อปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา ขสมก.ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้เอกชนได้
ส่วนโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ e-Ticket และติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash Box) บนรถเมล์นั้น นายณัฐชาติ กล่าวว่า ได้ให้ CHO ซึ่งเป็นผู้รับงานระงับการติดตั้ง Cash Box แล้ว และให้อัพเกรดระบบซอฟท์แวร์ของอุปกรณ์ e-Ticket เพื่อให้รองรับการใช้บัตรแมงมุม ซึ่งจะใช้กับรถ ขสมก.ได้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้
นอกจากนี้ ขสมก.ได้ปรับปรุงเส้นทางเดินรถ 7 เส้นทางเพื่อรองรับการเดินทางต่อจากรถไฟฟ้า โดยเดินรถระยะสั้นเพื่อมารับผู้โดยสารที่มาจากรถไฟฟ้า ขณะนี้ได้ยื่นให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาและอนุมัติ ขณะเดียวกันรถเมล์สาย Airport Bus ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 10% ของ Traffic ในสนามบินดอนเมืองวันละ 100,000 คน