พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณข้าราชการทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคประชาสังคม ที่สนับสนุนขับเคลื่อนทำงานหนักร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดระดับในรายงานการค้ามนุษย์ TIP report 2018 ของสหรัฐฯ ดีขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนานาประเทศร่วมกันอีกครั้ง
โดยที่ประชุมรับทราบร่วมกันว่า ผลการจัดลำดับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ดีขึ้นมีผลอย่างมากต่อการยกระดับความเชื่อมั่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเดิมสร้างความเสียหายทางการค้าและสุ่มเสี่ยงกับการต่อต้านสินค้าไทย เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและประมง เป็นต้น พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาแนวทางดำเนินงานตามข้อเสนอแนะในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2561 โดยกำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลักติดตามผลการดำเนินงานภาพรวม และรายงานให้ทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งแบ่งมอบให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบขับเคลื่อนแก้ปัญหาตามข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ ในประเด็นต่างๆ
รวมทั้งร่วมพิจารณากำหนดมาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีค้ามนุษย์ และคดีค้ามนุษย์ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินมาตรการปกครองหรือวินัย และทางอาญาอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยส่งสำนวนให้สำนักงาน ป.ป.ช.แล้วแต่กรณี ทั้งนี้หากเป็นคดีค้ามนุษย์ที่สำคัญมีผลต่อภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ถือเป็นคดีพิเศษ
พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องรักษาระดับและคงความพยายามหลักพัฒนาให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนต่อไป ด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำ การคุ้มครองผู้เสียหาย และป้องกันการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องคุ้มครองความเสมอกัน ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือตลอดมา
พร้อมทั้งย้ำว่า ระบบราชการของทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องยืนหยัด เข้มแข็ง จริงจังและต่อเนื่อง ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ต้องไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กันไป
พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบันจะยังคงนโยบายสำคัญและความพยายามหลักที่จะเดินหน้าป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มกำลังต่อเนื่องกันไปให้มีผลทั้งทางกว้างและทางลึก โดยในปี 2562 จะพิจารณาผลักดันยกระดับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีผลร่วมกันระดับภูมิภาคมากขึ้น ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน