นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกรมเจ้าท่าว่า ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าไปทบทวนกฎระเบียบข้อกฎหมายเพื่อสรุปและนำเสนอ นโยบาย ปรับปรุงเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนกฎหมายต่อไป เพื่อให้การทำงานมีความทันสมัย เป็นเจ้าท่า 4.0 สามารถปฎิบัติงานได้ตามสถานการณ์
กรมเจ้าท่ามีฐานะเป็น Regulator ด้านการขนส่งทางน้ำ มีภารกิจตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันกฎหมายของกรมเจ้าท่าเป็นกฎหมายเก่าที่ค่อนข้างล้าสมัย
"ในอดีตไม่ได้มีเรื่องเทคโนโลยี ไม่มีระบบเรดาร์ ไม่มีการติดตามกองเรือแบบเรียลไทม์ แต่วันนี้ มีเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว ดังนั้นกรมเจ้าท่าจะต้องไปดูว่าจะปรับปรุงอะไรบ้างหรือการบริหารจัดการน่านน้ำจะอยู่แค่ 12 ไมล์ทะเลต่อไปหรือไม่ หรืออำนาจในการสั่งการเข้าออกของเรือ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อยุติว่ากรมเจ้าท่าสั่งได้หรือไม่ จากกรณีเรือล่มจ.ภูเก็ต ดังนั้นหากคาดหวังว่าต้องเป็นภารกิจของกรมเจ้าท่า จะต้องกำหนด กฎหมายให้ชัดเจน"
ส่วนกรณีเรื่องของเงินสินบนจากบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขนอมนั้น รมช.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ที่เอกชนทำโครงการ เป็นการสร้างท่าเรือชั่วคราวขึ้นมาหลังจากเสร็จโครงการได้ถอนท่าเรือชั่วคราวออกถือเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าไปเกี่ยวข้องและดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องจะถูกลงโทษ เพราะนโยบายของกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีการรับสินบนอย่างไรก็ต้องถูกลงโทษ แม้จะเกิดมาตั้งแต่เมื่อปี 2556 แต่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน