นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่สันเขื่อนดินย่อยของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกที่เมืองสนามไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นั้น กรมควบคุมโรค เตรียมพร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 10 อุบลราชธานี (สคร. 10 อบ.) ที่พร้อมร่วมปฏิบัติงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ อีกทั้งยังให้การสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการช่วยเหลือในครั้งนี้
จากที่ประชุมของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ที่จังหวัดอุบลราชธานี ทีมงานได้ลงพื้นที่พร้อมนำทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) และทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical Emergency Response Team : MERT) เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมนำเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยาชุดน้ำท่วม 5,000 ชุด อาทิ รองเท้าบู๊ท ชุดตรวจสอบคลอรีนในน้ำ ยาทากันยุง เป็นต้น เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลือนี้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจลุ่มน้ำโขง ของจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงจำปาสัก ที่มีความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการตอบโต้ภัยพิบัติระดับจังหวัด
จังหวัดอุบลราชธานีได้มีการกำหนดระบบคัดกรอง และจุดประสานงานไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคัดกรองผู้ป่วยและประสานความช่วยเหลือ โดยให้โรงพยาบาลสิรินธร เป็นสถานบริการที่รับผิดชอบพื้นที่ด่านดังกล่าวเป็นเจ้าภาพ และได้เตรียมโรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร และโรงพยาบาลโขงเจียม กรณีที่มีผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากเกินรับไหว เพื่อลดความแออัดและเข้าถึงการรับบริการด้านสุขภาพที่ทั่วถึง
กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในผู้ประสบภัยทุกคน ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ โดยกรมควบคุมโรคได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี ให้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานพื้นที่อย่างเต็มที่ พร้อมขอให้ผู้ประสบภัยมีกำลังใจอยู่เสมอ นอกจากนี้ ภัยสุขภาพที่ต้องระวังเป็นพิเศษช่วงอุทกภัย ได้แก่ การตกน้ำ/จมน้ำ หรือ ถูกสัตว์มีพิษที่กัด ต่อย เป็นต้น ขอให้ทุกคนระวังตนเองและคนในครอบครัวอยู่เสมอ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับทีมหรือบุคคลที่เดินทางไปช่วยเหลือในครั้งนี้ ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม แข็งแรง ขณะอยู่ในพื้นที่ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล และสวมใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้งที่ต้องเดินหรือย่ำในน้ำ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรือเชื้อโรคที่มากับน้ำ พร้อมล้างทำความสะอาดขาและเท้าทันทีที่ขึ้นจากน้ำ ทั้งนี้ หลังกลับจากการช่วยเหลือ ให้สังเกตอาการผิดปกติ หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถร่วมบริจาคเงินได้ตามช่องทางที่รัฐบาลได้ชี้แจงไว้ ในส่วนของกรมควบคุมโรคเอง ได้มีการร่วมระดมเงินช่วยเหลือจากบุคลากรภายในหน่วยงาน เพื่อส่งกำลังใจและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ สปป.ลาว